กฟผ. สื่อสารสัมพันธ์สื่อมวลชนจังหวัดชุมพร ผ่านกิจกรรมกินข้าว เล่าเรื่อง “รัก” ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19

22 February 2022

         กฟผ. จัดกิจกรรมสื่อสารสัมพันธ์สื่อมวลชนจังหวัดชุมพร กินข้าว-เล่าเรื่อง “รัก” สื่อสารภารกิจรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า โครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า และโครงการ CSR “ปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม” ในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดชุมพรพร้อมเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ภายใต้มาตรการป้องการโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

          เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  จัดกิจกรรมสื่อสารสัมพันธ์ กินข้าว-เล่าเรื่อง “รัก” ภายใต้ธีมส่งมอบความห่วงใย เนื่องในเดือนแห่งความรัก เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างเครือข่ายสื่อมวลชนจังหวัดชุมพร – กฟผ. และสื่อสารภารกิจในการดูแลรักษาความมั่นคงและพัฒนาระบบไฟฟ้า การดำเนินโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม (CSR) ในพื้นที่ภาคใต้ และจังหวัดชุมพร พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านพลังงานไฟฟ้า โดยมีนางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ นายอนันต์ชัย เนียมกลาง ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน นายชินกฤช อุตะปะละ หัวหน้ากองบริหาร ฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้  นายบรรจง สวัสดิกุล หน่วยก่อสร้างสายส่งปริมณฑล   พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งภายในกิจกรรมมีการส่งมอบกล่องห่วงใยจากใจ กฟผ. ให้แก่สื่อมวลชนจังหวัดชุมพร เพื่อใช้ในการป้องกันตนเองจากสถานการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) โดยมีนายฌรงค์ หลักกำจร ประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมเครือข่ายผู้นำทางความคิดและสื่อมวลชนจังหวัดชุมพร รวมทั้งสิ้น 40 คน ณ โรงแรมชุมพรการ์เด้นส์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

             นางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ  เล่าเรื่องรักษ์ชุมพรระหว่างกิจกรรมกินข้าว-เล่าเรื่อง “รัก” ว่า พื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัดชุมพร คือ “ป่า” บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ป่าโอบล้อมผู้คน คนอาศัยป่าทำมาหากิน แน่นอนว่าการอยู่คู่เคียงข้างกันระหว่างป่าและคน ย่อมเกิดผลกระทบกับป่าไม้ไม่มากก็น้อย ป่าไม้เสื่อมโทรมและลดปริมาณลง ทำให้ทุกภาคส่วนต้องหันมาตระหนักถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมพรให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างในอดีต การพลิกฟื้นผืนป่าไม่ใช่เรื่องง่าย หากปล่อยให้ป่ารักษาตัวเองคงต้องใช้ระยะเวลานานมาก ป่าจึงต้องอาศัยการฟื้นฟูจากมนุษย์ โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชุมพร ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีการดำเนินงานและโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชุมพร จึงได้ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่จังหวัดชุมพร นับตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันปี 2565 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 28 แล้ว โดย กฟผ. ร่วมกับจังหวัดชุมพร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าไม้ในจังหวัดชุมพรมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กฟผ. มีพื้นที่ปลูกป่ารวมทั้งสิ้น 14,354.40 ไร่ ทั้งป่าบกและป่าชายเลน แบ่งออกเป็นป่าบก 10,185 ไร่ และป่าชายเลน 4,169.40 ไร่ สามารถช่วยฟื้นฟูสภาพผืนป่าชุมพรให้กลับมา อุดมสมบูรณ์ ป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเล และช่วยสร้างแนวกำบังคลื่นชายฝั่ง รวมถึงมีความสำคัญต่อการเป็นแหล่งอนุบาลและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย โดย กฟผ. ได้เลือกพื้นที่ในการปลูกป่าที่เป็นความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของผืนป่า และเต็มใจที่จะช่วยดูแลรักษาป่าให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

      “ปัจจุบัน กฟผ. ดำเนินการปลูกป่าภายใต้โครงการ “ปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน และยุทธศาสตร์ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของ กฟผ. ที่ตั้งเป้าหมายมุ่งหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเป้าหมายของประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามกรอบแผนพลังงานชาติ” 

           นายชินกฤช อุตะปะละ หัวหน้ากองบริหาร  ฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้   เล่าเรื่องรักษ์พลังงานผ่านการรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าว่า ที่ผ่านมาภาคใต้และจังหวัดชุมพร ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากรายได้หลักมาจากธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาหยุดชะงักเกือบทั้งหมด ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ลดลง แต่หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศเมื่อปลายปี 2564 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจการท่องเที่ยวของภาคใต้ ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 2,403 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565) โดยมีกำลังผลิตรวมของ กฟผ. ที่มาจากโรงไฟฟ้าหลักที่สามารถสั่งการได้ตามความต้องการของระบบ และจ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง (firm) มีเพียง 2,406 เมกะวัตต์ ที่เหลืออีกราว 600 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าประเภท Non-Firm ที่จ่ายไฟฟ้าได้เป็นบางเวลา สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเสริมได้เพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น รวมทั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตรวม 29 เมกะวัตต์ ที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ ทำให้ปัจจุบันจำเป็นต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้เกือบทุกวันวันละ 200-600 เมกะวัตต์

            นายอนันต์ชัย เนียมกลาง ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน เล่าเรื่องรักษ์พลังงานผ่านการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าว่า กฟผ. จำเป็นต้องวางแผนพัฒนาระบบผลิตและส่งไฟฟ้าของภาคใต้ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในระยะยาว หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และกลับเข้าสู่สภาวะปกติ รวมทั้งการขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ปัจจุบันภาคใต้รับไฟฟ้ามาจากภาคกลาง ผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาดแรงดันไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ (kV) ซึ่งครอบคลุมถึงบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกตอนล่างเท่านั้น เมื่อเกิดเหตุขัดข้องกับสายส่งไฟฟ้าของภาคใต้ ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างได้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 กฟผ. จึงเร่งดำเนินการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของภาคใต้ โดยดำเนินโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 500 kV และ 230 kV จากภาคกลางไปยังจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้สามารถส่งจ่ายไฟฟ้าเชื่อมโยงจากภาคกลางไปยังภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ ซึ่งมีแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านพื้นที่จังหวัดชุมพรลงไปยังจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ แผนงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว คือ สายส่ง 500 kV บางสะพาน2-สุราษฎร์ธานี2-ภูเก็ต3 วงจรที่ 1-2 ซึ่งกำลังจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบอย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนมีนาคม 2565 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งกำลังไฟฟ้าระหว่างภาคกลางและภาคใต้ จะเพิ่มขึ้นจาก 650 เมกกะวัตต์ เป็น 1,300 เมกะวัตต์ และแผนงานก่อสร้างสายส่งที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน คือ สายส่ง 500 kV บางสะพาน2 – สุราษฎร์ธานี2 วงจรที่ 3 และ 4 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งกำลังไฟฟ้าระหว่างภาคกลางและภาคใต้ จะเพิ่มขึ้นจาก 1,300 เมกกะวัตต์ เป็น 2,300 เมกะวัตต์ จะช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าและเพิ่มขีดความสามารถในการรับและส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าระหว่างภาคกลาง-ภาคใต้ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น และสามารถลดสัดส่วนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าหลักในภาคใต้ได้อีกด้วย

           กฟผ. และจังหวัดชุมพร พร้อมด้วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันรักษ์โลกด้วยการดำเนินกิจกรรมปลูกป่าในพื้นที่จังหวัดชุมพรมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยลดภาวะโลกร้อน เพื่อนำประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ตามกรอบแผนพลังงานชาติ โดย กฟผ. มีเป้าหมายในการปลูกป่าทั่วประเทศ ปีละ 1 แสนไร่ รวมจำนวน 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2574 และจะบำรุงรักษาต่อเนื่องอีก 9 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2583 ผ่านระบบตรวจติดตามอัตราการรอดตายและอัตราการเติบโตของกล้าไม้ ด้วยเครือข่ายปลูกป่าของ กฟผ. ผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการตรวจติดตาม คาดว่า ตลอดระยะเวลาโครงการฯ จะสามารถดูดซับกักเก็บคาร์บอนได้รวมทั้งสิ้น 23.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

         นอกจากนี้ กฟผ. ยังเดินหน้ารักษ์พลังงาน ด้วยการพัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดชุมพร เนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายหรือกลับสู่สถานการณ์ปกติ การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในภาคใต้จะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว กฟผ. จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบไฟฟ้า ทั้งระบบผลิตและส่งไฟฟ้าของภาคใต้ให้มีความมั่นคงและเพียงพอ สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งเตรียมพร้อมรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในยุค Green Energy ด้วยนวัตกรรมพลังงานที่ทันสมัยช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสำคัญที่สุด คือ เพื่อความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคน

Skip to content