เพราะเราคือมืออาชีพ …
ปฏิบัติการปลุก “โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี” กู้วิกฤตพลังงานไทย

23 February 2022

    จากปัญหาราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนลุกลามกลายเป็นวิกฤตพลังงานที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนถึงร้อยละ 56 ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีเพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม จึงได้ปรับแผนการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ราคาสูงลิ่วถึง 15.66 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีราคาเพียง 4.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู โดยเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาที่มีราคาถูกกว่าเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแทน

     ฟังเผินๆ อาจมองเป็นเรื่องง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ง่ายเลย เพราะโรงไฟฟ้าบางแห่งเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ในสถานะของโรง Reserved Shutdown (การหยุดเดินเครื่องตามแผนการสั่งเดินเครื่อง) มานาน จนบางคนมองว่าเป็น โรงไฟฟ้าที่ไม่มีความสำคัญ ปฏิบัติการปลุก “โรงไฟฟ้า” ให้ขึ้นมารับใช้ชาติจึงเริ่มต้นขึ้น

    กัมปนาท คล้ายแก้ว ผู้อำนวยการโครงการเดินเครื่องและบำรุงรักษาประจำโรงไฟฟ้า บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีจำกัด ทีมจาก กฟผ. ซึ่งทำหน้าที่ให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&m) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี หนึ่งในโรงไฟฟ้าที่ถูกกำหนดให้เดินเครื่องช่วยกู้วิกฤตพลังงาน เล่าให้ฟังว่า ทีมได้รับภารกิจให้ดูแลงาน O&m ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพมาเป็นเวลากว่า 17 ปี จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2560 โรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้ถูกสั่งการให้อยู่ในฐานะ Reserved Shutdown เพื่อรอเรียกเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ตามลำดับของต้นทุนด้านพลังงาน ที่ควบคุมโดยศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (NCC) ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ เมษายน 2560) โรงไฟฟ้าไม่ได้รับการสั่งการให้เดินเครื่องแม้แต่ครั้งเดียว จนคนทั่วไปเข้าใจว่าพวกเราวันๆไม่ต้องทำอะไร อยู่สบายกันจริง ๆ

     แต่จะมีใครรู้บ้างว่าในทุกๆวัน ทีมงานเดินเครื่องและบำรุงรักษา จะต้องทำการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมในการเดินเครื่องอยู่เสมอ อุปกรณ์โรงไฟฟ้าทุกชิ้นต้องมีการทดสอบการทำงานเป็นประจำ การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าได้ถูกกำหนดขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ในหนึ่งปีจึงมีใบสั่งงานบำรุงรักษา เกือบ 2 หมื่นใบ เพื่อที่จะดูแลโรงไฟฟ้าให้พร้อมเดินเครื่องได้ตลอดเวลา “พวกเราก็ยังมีความหวังว่า สักวันหนึ่งโรงไฟฟ้าในความดูแลของพวกเราจะได้กลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง” พร้อมทั้งปรับมุมมองความคิดร่วมกันในทีมว่า ถ้าวันใดที่โรงไฟฟ้าถูกสั่งการให้เดินเครื่องเข้าระบบโรงไฟฟ้า ทีมงานของเราจะต้องมีความพร้อมที่จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าให้ได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกคนมีกำลังใจและตั้งหน้าตั้งตาดูแลรักษาอุปกรณ์ทุกชิ้นในโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมอยู่เสมอ ส่วนผู้ปฏิบัติงานที่ทำหน้าที่เดินเครื่องก็จะต้องเข้าอบรมการเดินเครื่องด้วย Simulation ที่มีอยู่ของโรงไฟฟ้า เพื่อรอวันที่จะได้รับการสั่งการให้เดินเครื่องอีกครั้ง

    และในที่สุดวันที่ก๊าซธรรมชาติในคลังสำรองเริ่มลดน้อยลงก็มาถึง ศูนย์ NCC จึงได้สั่งการให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี กลับมาทดสอบการเดินเครื่องด้วยน้ำมันเตา เพื่อทดสอบระบบว่า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรีจะสามารถเดินเครื่องเข้าระบบเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ในกรณีที่ก๊าซธรรมชาติเกิดปัญหาได้หรือไม่ โดยมีระยะเวลาเตรียมการล่วงหน้าเพียง 16 วัน ช่วงเวลานั้นทีมงานทุกคนเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ทั้งดีใจ ตื่นเต้น แต่ก็เต็มไปด้วยความเครียดอย่างถึงที่สุด “จริงอยู่ว่าโรงไฟฟ้าของเรามีการดูแลและบำรุงรักษาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด แต่มีอุปกรณ์สำคัญที่ไม่สามารถทดสอบได้ในขณะ Reserved Shutdown โรงไฟฟ้า คือ Steam Turbine และ Generator Rotor โดยจะสามารถทดสอบได้หลังจากการเดินเครื่องขึ้นมาแล้วเท่านั้น ทำให้ทีมงานพวกเรา ประมาณ 100 คน และทีมสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นใน กฟผ. อีกประมาณ 100 คน ต้องร่วมมือกันเป็นหนึ่ง (Synergy) เพื่อเตรียมการโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมในการเดินเครื่องมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การทำงานยากขึ้นไปกว่าเดิม แต่ทุกคนก็ยังคงมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามที่ศูนย์ NCC สั่งการให้ได้

     จนกระทั่งถึงวันที่ต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามกำหนด โรงไฟฟ้าต้องมีกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ให้ได้ ภายในเวลา 13.00 น.“วันนั้นผู้บริหารและทีมงานทุกคนมาร่วมลุ้นกันตัวโก่งอยู่ที่ Control Room เพราะถ้าไม่สามารถทำภารกิจได้ตามที่กำหนดจะถือว่าโรงไฟฟ้าที่เราดูแลไม่มีความพร้อม” ทีมเล่าถึงบรรยากาศของวันชี้ชะตา

    เวลา 11.35 น. เสียงเฮดังลั่นทันทีที่โรงไฟฟ้าสามารถขนานเครื่องเข้าระบบได้ แต่กระบวนการต่างๆยังไม่สิ้นสุด เพราะโรงไฟฟ้าต้องเพิ่มโหลด (กำลังการผลิต) ให้ได้ถึง 700 เมกะวัตต์ ภายใน 13.00 น. ทุกคนลุ้นจนนั่งไม่ติดเก้าอี้ แล้วโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี ก็สามารถเร่งกำลังผลิตได้ 700 เมกะวัตต์ สามารถจ่ายโหลดเข้าระบบได้ทันท่วงที ก่อนเวลา 13.00 น. เพียง 2 นาทีเท่านั้น “ดูแลโรงไฟฟ้ามาตลอด 4 ปี โดยไม่เห็นเป้าหมายว่าจะได้เดินเครื่อง แต่ถ้าเราดูแลได้ไม่ดีพอ จะเกิดปัญหาการเดินเครื่องแน่นอน ทันทีที่โรงไฟฟ้าเราจ่ายโหลดได้ หายเหนื่อย หายเครียดเลย รู้สึกภูมิใจที่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือวิกฤตพลังงานของประเทศได้”

    หลังผ่านการทดสอบจากศูนย์ NCC ว่า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี สามารถเดินเครื่องได้อย่างมีเสถียรภาพ ทำให้โรงไฟฟ้าถูกเรียกขึ้นมาเดินเครื่องเป็นโรงไฟฟ้าฐาน สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกับโรงไฟฟ้าอื่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย วันนี้..โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี โรงไฟฟ้าที่ใครๆ มองว่าเป็นโรงไฟฟ้าสำรองมา 4 ปีเต็ม แต่ใครจะคาดคิดว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะได้กลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้ารับใช้ประเทศชาติในยามวิกฤตได้อีกครั้ง ด้วยฝีมือและความมุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างอดทน ไม่ย่อท้อ และการผสานพลังรวมกันเป็นหนึ่งของทีมงานทุกคน

Skip to content