รับมืออย่างไร…ในช่วงวิกฤตราคาพลังงานขาขึ้น

9 March 2022

          ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตด้านพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติเหลว และถ่านหินปรับตัวสูงขึ้นหลายเท่าตัว ดังนั้นหน้าร้อนนี้นอกจากผู้ใช้พลังงานทุกคนจะเหงื่อตกเพราะอากาศที่ร้อนจัดแล้ว ยังอาจต้องเหงื่อตกเพราะราคาน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม รวมถึงค่าไฟฟ้าที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานในตลาดโลกด้วย

ทำไมราคาพลังงาน “แพง”

          ทิศทางราคาพลังงานยังมีแนวโน้มพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาน้ำมันดิบโลกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ที่ทะยานไปแตะ 127 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 14 ปี เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาราคา Spot LNG ก็มีราคาสูงขึ้นเกือบ 5 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยราคา Spot LNG ของเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 5.6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ในขณะที่ราคา Spot LNG ของเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 25-26 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอย่างมาก ได้แก่

  • ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

          สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจระงับการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซฯจากรัสเซีย ส่วนชาติพันธมิตรในยุโรปกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันดิบสูงถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับการถอนการลงทุนของบริษัทพลังงานข้ามชาติที่ลงทุนในรัสเซีย ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและก๊าซฯ ในตลาดโลกอย่างรุนแรง เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับสองของโลกรองจากซาอุดิอาระเบีย และส่งออกก๊าซฯ เป็นอันดับ 1 ของโลก

  •   การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19

          การคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายประเทศไม่มีการประกาศล็อคดาวน์ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันและไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับกำลังผลิตน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดน้อยถอยลง

  • กำลังผลิตของกลุ่มโอเปกลดลง

          กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปกและชาติพันธมิตรมีข้อตกลงในการเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันเพียง400,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันต่างกังวลว่าการเพิ่มกำลังผลิตที่เร็วเกินไปอาจกลายเป็นปัญหาหากเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่อีก แต่ปัจจุบันทางกลุ่มโอเปกและโอเปกพลัสก็ยังไม่สามารถพิ่มกำลังผลิตได้ตามเป้าที่วางไว้

ราคาก๊าซฯพุ่งกระทบต้นทุนค่าไฟ

          ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันดิบและก๊าซฯ จากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากกำลังผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยมีการนำเข้า LNG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศถึงร้อยละ 60 ราคา LNG ที่ขยับตัวสูงขึ้นจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศ และมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft)

ปรับแผนบริหารเชื้อเพลิง อุดหนุนค่า Ft          

          แม้จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นค่า Ft ได้ แต่ภาครัฐก็พยายามลดผลกระทบค่าไฟฟ้าจากปัญหาราคา LNG แพง โดยปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงอื่น ๆ มาผลิตไฟฟ้าทดแทน LNG ที่มีราคาสูง เช่น ถ่านหิน น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล จัดหา LNG ในพื้นที่อ่าวไทยและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียเพิ่มเติมให้เต็มความสามารถ รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพิ่มขึ้น

ปรับนิสัย-เลือกใช้ฉลากเบอร์ 5 ติดดาว ช่วยลดค่าไฟ

          ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าก็สามารถรับมือกับค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นได้ด้วยการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด เพราะการคิดค่าไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได คือ ยิ่งใช้ไฟมาก หน่วยการใช้ไฟเยอะ ค่าไฟยิ่งพุ่ง ซึ่งวิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้คือ การปรับนิสัยการใช้ไฟฟ้าและเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดไฟยิ่งกว่าเดิมเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากเบอร์ 5 ดังนี้

  • เครื่องปรับอากาศ  ควรเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว มีขนาดเหมาะสมกับขนาดห้อง ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท ตั้งอุณหภูมิที่ 25-26 องศาเซลเซียสเพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาจะช่วยลดค่าไฟฟ้าประมาณ 10 % และล้างแอร์อย่างน้อยทุก 6 เดือน สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 47% 
  • ตู้เย็น  ควรเลือกใช้ตู้เย็นที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว ลดการเปิด-ปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้นานเกินความจำเป็น ไม่ใส่ของที่อุณหภูมิสูง ไม่ใส่ของแน่นเกินไป และควรวางตู้เย็นห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตร สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 49% 
  • หลอดไฟ เลือกใช้หลอดไฟแอลอีดี (E27) ขนาด 7 วัตต์ แทนหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (CFL) ขนาด 13 วัตต์ และปิดสวิตซ์ทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 57%
  • พัดลม  เลือกใช้พัดลมที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน เปิดพัดลมเบอร์ 1 ปิดและถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน และหมั่นทำความสะอาดพัดลมอยู่เสมอ สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 43%
  • เตารีด เลือกใช้เตารีดที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว รีดผ้าครั้งละมาก ๆ ไม่พรมน้ำมากเกินไป และถอดปลั๊กก่อนเสร็จสิ้นการรีดประมาณ 2 นาที เพราะความร้อนที่เหลืออยู่ในเตารีดไฟฟ้ายังสามารถรีดผ้าชนิดที่ไม่ต้องการความร้อนมาก สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 43%
  • โทรทัศน์ เลือกใช้โทรทัศน์ที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว และถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน สามารถประหยัดไฟได้เพิ่มขึ้น 51%

          แม้ว่าวิกฤตราคาพลังงานขาขึ้นจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคนที่จะช่วยกันประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตพลังงานไปได้ด้วยดีอีกครั้ง

Skip to content