กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กฟผ. จัดเสวนา “การประหยัดพลังงานในสถานการณ์วิกฤต” ชวนคนไทยร่วมประหยัดพลังงาน ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

22 June 2022

         กระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย กฟผ. และหน่วยงานเอกชน รวมพลังจัดเสวนา “การประหยัดพลังงานในสถานการณ์วิกฤต” ปูพรมที่มาที่ไปของวิกฤตพลังงาน ร่วมกันระดมความคิดวิธีการประหยัดพลังงาน ด้านเลขา รมว.พลังงานระบุ วิกฤตพลังงานส่งผลกระทบทั่วโลก พร้อมชวนคนไทยมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน มั่นใจเกิดผลดีในภาพรวม และช่วยให้ ประเทศก้าวผ่านวิกฤตด้านพลังงานครั้งนี้ไปได้

         เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานเสวนาเรื่อง “การประหยัดพลังงานในสถานการณ์วิกฤต” ซึ่งกระทรวงพลังงานจัดขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตพลังงานและร่วมรณรงค์ให้เกิดการตระหนักรู้และร่วมกันประหยัดพลังงาน ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook: กระทรวงพลังงาน และ Facebook: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

         ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบแต่ไม่รุนแรงหากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่กระทบจนส่งผลทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และกระทบต่อการใช้ชีวิต ของประชาชน อย่างไรก็ตาม เราคนไทยทุกคนต้องร่วมกันนำพาประเทศก้าวผ่านวิกฤตด้านพลังงานครั้งนี้ไปด้วยกัน ซึ่งสามารถทำได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม เช่น การเปิดเครื่องปรับอากาศในอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส เป็นต้น แม้จะคนละเล็กน้อยแต่เมื่อรวมกันทั้งประเทศก็จะสามารถประหยัดพลังงานได้อย่างมาก และถือเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ของครอบครัว และงบประมาณของประเทศ อีกทั้งยังทำให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

         สำหรับการเสวนาเรื่อง “การประหยัดพลังงานในสถานการณ์วิกฤต” ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม อาทิ นางจงรักษ์ ฐินะกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน นายพฤทธ์ ทาสีลา ผู้จัดการโครงการ บริษัท คิด คิด จำกัด นายภานุวัฒน์ สัจจะวิริยะกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Nudge Thailand และ นายสมศักดิ์ ปรางทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม โดยมี นางสาวแทนวรรณ โตโพธิ์กลาง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ดำเนินรายการ

         สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการปรับพฤติกรรมการใช้พลังงาน

         ด้าน นางจงรักษ์ ฐินะกุล กล่าวถึงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสังคมและพลังงานว่า ปัจจุบันทุกคนมีความเข้าใจและรู้จักก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน โดยสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตเป็นจำนวนที่สูงมากในทุกปี และทั้งหมดนั้นเป็นผลกระทบที่เกิดจาก สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นเราต้องสร้างความรู้ความตระหนัก เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงภาคีเครือข่าย โดยปัจจุบันมีการดำเนินการรวมถึงโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมในเรื่องนี้ตั้งแต่ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ชุมชน จนกระทั่งถึงในออฟฟิศต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟ ใช้หลอดที่ประหยัดพลังงาน การเปลี่ยนพฤติกรรม ในออฟฟิศอย่างการปิดไฟตอนพักเที่ยง ลดการใช้กระดาษ เป็นต้น

         ทั่วโลกร่วมรณรงค์ประหยัดพลังงาน มั่นใจส่งผลบวก

         นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ กล่าวว่า วิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย เป็นเรื่องของ Geopolitics ภูมิศาสตร์โลกที่ส่งผล ต่อการจัดสรรพลังงาน ทำให้พลังงานไม่สามารถส่งไปยังผู้ที่ต้องการได้ ราคาพลังงานจึงสูงขึ้น ส่งผลต่อค่าครองชีพ อย่างในทวีปยุโรปประสบกับภาวะอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากพลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต หรือบางประเทศก็กระทบถึงเรื่องการเมือง โดยในเรื่องการประหยัดพลังงานนั้น ล่าสุดรัฐมนตรีด้านพลังงานของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ในกลุ่ม Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ได้ประชุมและประเมินว่าการประหยัดพลังงานจะช่วยให้เกิดผลดีกับโลก โดยมีการคำนวณ ว่าหากลดการใช้พลังงานลงอย่างน้อย 4 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้การปลดปล่อยคาร์บอนน้อยลง 5,000 ล้านตันในอีก 10 ปีข้างหน้า และจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าหรือความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่น้อยลง อาจจะถึงประมาณ 273 ล้าน MWh เพราะฉะนั้น การประหยัดพลังงานมีผลสูงมาก

         สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรณรงค์ประหยัดพลังงานคือ แนวความคิด การสอนให้เยาวชนมีความตระหนักรู้ คำนึงถึงการใช้และประหยัดพลังงาน รวมทั้งรัฐบาลต้องมีนโยบายเข้มข้น เช่น รัฐมนตรีพลังงานของประเทศออสเตรเลียขอให้ประชาชนดับไฟ อย่างน้อยในเวลา 18.00-20.00 น. ของทุกวัน เนื่องจากสถานการณ์ด้านพลังงานอยู่ในขั้นวิกฤต หรือที่ประเทศอินเดีย มีการรณรงค์ให้การสร้างบ้านใหม่จะต้องใส่อุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานประหยัดพลังงาน อีกทั้งมีการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code) ซึ่งรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุน หรืออย่างประเทศในทวีปยุโรป ขอให้ เปิดฮีทเตอร์จากปกติที่จะเปิดกัน 21 องศาเซลเซียส เป็น 19 องศาเซลเซียส เพื่อประหยัดพลังงาน การรณรงค์ในเรื่องการใช้รถสาธารณะ การ Work from Home ให้มากขึ้น หรือการชวนกันออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านในบางประเทศ

         เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ช่วยประหยัดพลังงาน

         นายสมศักดิ์ ปรางทอง กล่าวว่า จากปัจจัยของภาวะโลกร้อนส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ เช่น ฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้ทุกคนหาเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อดูแลตัวเอง ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยใช้ไฟฟ้าประมาณปีละเกือบ 200,000 GWh โดยในปี 2564 อยู่ที่ 190,468 GWh ซึ่งในด้านของการประหยัดพลังงานนั้น กฟผ. มีกลยุทธ์การประหยัดพลังงานไฟฟ้า คือ 3 อ. ดังนี้ อุปกรณ์ อาคาร และอุปนิสัย ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคืออุปกรณ์ เพราะเมื่ออุปกรณ์ดีก็จะช่วยในการลดการใช้พลังงาน ซึ่ง กฟผ. เดินหน้าโครงการฉลากเบอร์ 5 ตั้งแต่ปี 2538 โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิต/นำเข้า จำหน่ายอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยปัจจุบัน ติดฉลากไปแล้ว 22 ผลิตภัณฑ์ จ่ายฉลากไปแล้วทั้งหมด 454,834,459 ฉลาก จากการประเมินสามารถลดความต้องการไฟฟ้า สูงสุดสะสม 5,648 MW และลดความต้องการพลังงานไฟฟ้าสะสมได้ถึง 34,174 GWh อีกทั้งยังลดการปล่อย CO2 ได้อีกด้วย และ ปัจจุบันได้อัปเกรดประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยการปรับเพิ่มจากฉลากเบอร์ 5 เป็นเบอร์ 5 ติดดาว ตั้งแต่ 1-3 ดาว ยิ่งดาวมากยิ่งประหยัดไฟมาก เพื่อเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจซื้อของผู้ใช้งาน อีกทั้งการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้านอกจากประสิทธิภาพแล้ว ต้องดูความเหมาะสม ของขนาดด้วย เช่น กรณีเลือกเครื่องปรับอากาศเครื่องเล็กใช้กับห้องขนาดใหญ่ ก็จะทำงานหนักใช้ไฟเยอะตามไปด้วย ดังนั้นต้องเลือก ให้เข้ากับการใช้งานและระยะเวลาการใช้งาน

         ทุกคนต้องตระหนักรู้ว่าการใช้พลังงานของตนมีผลกระทบต่อโลกอย่างไร

         นายภานุวัฒน์ สัจจะวิริยะกุล กล่าวว่า ผู้คนจะตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองได้มากขึ้น ก็ต่อเมื่อผลกระทบอยู่ใกล้ตัว ดังนั้น ผู้คนควรรับรู้ถึงผลกระทบทางด้านพลังงาน โดยเริ่มจากการสังเกตพฤติกรรมของตัวเองว่า ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร และไม่ประเมินพฤติกรรมการใช้พลังงานของตัวเองต่ำจนเกินไป เช่น ถ้าเราช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้าคนละ 2-3 ยูนิต เมื่อรวมกันก็สามารถประหยัดไฟฟ้าได้จำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ผลสัมฤทธิ์จะเกิดขึ้นได้นั้น มาจาก 2 ส่วน คือ 1. S System ผู้ที่ออกนโยบาย หรือผู้ที่สร้างระบบขึ้นมา 2. I system (Individuals) เรื่องของแต่ละบุคคล แต่ I System มีข้อจำกัด คือ เราอาจจะคิดได้ แต่ทำไม่ได้ เช่น วันนี้เราตระหนักถึงปัญหาของพลังงาน แต่พอเวลาผ่านไปความตระหนักนั้นจะค่อย ๆ หายไป ดังนั้น นอกจากจะสร้าง ความตระหนักรู้แล้ว ต้องปรับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเราด้วย เช่น ตั้งเวลาเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ

         ชวนทุกคนตระหนักทุกครั้งก่อนใช้พลังงาน และสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว

         นายพฤทธ์ ทาสีลา ผู้จัดการโครงการ บริษัท คิด คิด จำกัด กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผู้คนมีความคิดในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว จนกระทั่งได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 อีกทั้งในเรื่องของอากาศเปลี่ยนแปลง ที่มีการกล่าวถึงมามากกว่า 30 ปี จนปัจจุบันนี้กลายเป็นเรื่องที่อาจจะแก้ไขไม่ทัน แต่ก็สามารถลดผลกระทบได้ ซึ่งเรื่องพลังงานก็เช่นเดียวกัน นอกเหนือจากค่าไฟฟ้า หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานที่ราคาสูงขึ้น ผู้คนก็ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ถ้าหากผลกระทบเกิดขึ้นมาจริง ๆ ก็อาจจะแก้ไข ไม่ทันได้ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้สื่อสารในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน เช่น เชิญชวนให้ปิดเครื่องปรับอากาศวันละ 1 ชั่วโมง เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ หรือแม้แต่การปิดไฟในช่วงพักกลางวัน เนื่องด้วยขณะนี้สถานการณ์ของวิกฤตพลังงานเป็นปัญหาที่ค่อนข้างเร่งด่วน เพราะมูลค่าที่ผู้คนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าหรือค่าน้ำมัน ไม่ใช่แค่การจ่ายเงิน เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ผู้คนต้องจ่ายอย่างอื่นนอกเหนือจากเงินด้วย เช่น ความสะดวกสบาย หรือการใช้ชีวิตในอนาคต ดังนั้น จึงขอเชิญชวนทุกคนให้ตระหนักว่าทุกครั้งที่ใช้พลังงาน เราไม่ได้แค่เสียเงินเพียงอย่างเดียว แต่เรากำลังเสียโอกาสบางอย่างในอนาคตไป

         นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายยังมีการ Workshop สะกิดพฤติกรรมในการช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยกลุ่ม Nudge Thailand เพื่อร่วมกันคิดหาวิธีการในการประหยัดพลังงานกันอีกด้วย

Skip to content