วิกฤติพลังงานพ่นพิษทั่วโลกไม่เว้นแม้ไทยถึงเวลาเอาจริงกับการประหยัดพลังงาน

4 November 2022

          การมาเยือนของฤดูหนาวในทวีปยุโรปทำให้วิกฤติพลังงานยิ่งทวีความรุนแรง ราคาพลังงานผันผวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อสร้างความอบอุ่น สวนทางกับปริมาณการผลิตในตลาดโลกที่มีอยู่อย่างจำกัดทั้งผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการลดกำลังการผลิตน้ำมัน 2 ล้านบาร์เรลต่อวันของกลุ่มโอเปกพลัสทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแสนแพงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          จากเวทีเสวนาหาทางออก ฝ่าวิกฤติ “พลังงานโลก” ทางรอด “พลังงานไทย” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ และแพนเค้กเขมนิจ จามิกรณ์ นักแสดง ร่วมถอดบทเรียนวิกฤติพลังงานแต่ละประเทศ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อวางแนวทางรับมือต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น

สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อสะเทือนทั่วโลก

          นางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนกินเวลามานานกว่า 8 เดือน มีการโจมตีระบบสาธารณูปโภคด้านพลังงานเป็นระยะ ทำให้สถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป โดยการคว่ำบาตรรัสเซียที่ผ่านมาทำให้เกิดวิกฤติพลังงานไปทั่วโลกปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกลดลง ราคาพลังงานสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 2 ของโลก และส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก ทำให้สหภาพยุโรป(อียู) ได้รับผลกระทบหนักกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เพราะพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียสูงมาก โดยนำเข้าก๊าซธรรมชาติ40% น้ำมัน 27% และถ่านหิน 46% คิดเป็นมูลค่าถึง 3,714 ล้านบาท

          สหภาพยุโรปจึงต้องออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น เรียกว่าแผน RePower EU โดยตั้งเป้าลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียให้ได้ 2 ใน 3 ภายในปี 2565ซึ่งล่าสุดเหลือการนำเข้าเพียง 20%เท่านั้น ควบคู่กับการสำรองก๊าซธรรมชาติให้ได้ 80% และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในยุโรปให้ได้ 45% ภายในปี 2573 รวมถึงแสวงหาแหล่งพลังงานจากประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น นอร์เวย์ อียิปต์ อิสราเอล และอาเซอร์ไบจาน

          สำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชน เช่น ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า กำหนดเพดานราคาสูงสุดในการซื้อขายพลังงาน จัดเก็บเงินกองทุนจากบริษัทพลังงานที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงลดการใช้ไฟฟ้าโดยสมัครใจ 10% และดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม

ราคาพลังงานยังแพงถึงปีหน้า

          ประเทศไทยถือเป็นประเทศนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก แม้จะมีการผลิตน้ำมันจากแหล่งบนบกในประเทศได้เองแต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% เท่านั้นจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันของประเทศจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบที่เหลือ 92%จากต่างประเทศ ส่วนก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 70% ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าโดยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จากต่างประเทศมากถึง 38%

          นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมนี้ น้ำมันดิบยังมีความต้องการใช้สูงขึ้นเพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศ ทำให้ราคาพลังงานในช่วงปลายปียังมีความเสี่ยงด้านราคา โดยประเมินว่าช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ราคา LNG จะปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคา SpotLNG ในเดือนธันวาคม 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูด้านมอร์แกนสแตนเลย์ (Morgan Stanley) ธนาคารชั้นนำระดับโลกของสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าในไตรมาส 2ของปี 2566 ราคาLNG จะปรับขึ้นไปแตะ 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ไทยปรับแผนบริหารเชื้อเพลิง เร่งกำลังผลิตก๊าซฯ เพิ่ม

          สำหรับประเทศไทยได้เตรียมมาตรการรับมือวิกฤติพลังงานในช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2566 เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน 4 มาตรการ ได้แก่

  • ใช้น้ำมันดีเซลแทน LNG : หากราคา LNG สูงกว่า 25 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ให้ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแทน LNG สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และโรงไฟฟ้าเอกชนที่สามารถเดินเครื่องด้วยน้ำมันได้ โดยคาดว่าจะต้องใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 200 – 300 ล้านลิตร
  • ขยายอายุโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 : เลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 กำลังผลิต 270 เมกะวัตต์ ออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2568 และเตรียมนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่4 กำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ กลับมาผลิตไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะใช้ถ่านหินในประเทศซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูกในการผลิตไฟฟ้า
  • เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในประเทศและแหล่งอื่น :เร่งอัตราการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณ และเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ ในแหล่งอื่น ๆ ทั้งจากแหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ
  • รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาว เพิ่ม : เจรจาการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้ทดแทนไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นที่มีราคาสูง

          ส่วนมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านพลังงานอาทิส่วนลดค่า Ft สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และ 500หน่วยต่อเดือน ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 100 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ต.ค. – ธ.ค. 65)ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2563 -2565 ใช้งบประมาณช่วยเหลือด้านพลังงานแล้วกว่า 2.4 แสนล้านบาท และให้ กฟผ. แบกรับภาระจากการชะลอปรับขึ้นค่าไฟฟ้ากว่า 1 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับกองทุนน้ำมันฯ ที่ติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท

พลังงานไม่ใช่ของถูก แนะเร่งมาตรการประหยัดแบบเข้มข้น

          นอกจากการจัดหาพลังงานที่แสนยากลำบากและราคาพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เพียงต่อความต้องการของประเทศแล้ว รัฐบาลทั่วโลกยังขอให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานแบบเข้มข้น อาทิ ประเทศฝรั่งเศสประกาศปิดหอไอเฟลเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง และปิดไฟป้ายโฆษณาตั้งแต่เวลา 01.00 – 06.00 น. ประเทศเยอรมนีจำกัดการเปิดเครื่องทำความร้อนที่อุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียส และระงับการใช้ระบบทำความร้อนสำหรับสระว่ายน้ำส่วนตัว ส่วนที่ประเทศสเปนให้เปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส พร้อมขอความร่วมมือร้านค้าติดตั้งประตูล็อคอัตโนมัติเพื่อลดการทำงานระบบทำความร้อน

          จากบทเรียนของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป นางสาวสมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป แสดงทรรศนะไว้ว่า การที่รัฐบาล​สนับสนุน​ค่าไฟฟ้า​เป็นเรื่อง​ดีแต่อาจต้องดูราคาที่เหมาะสมเพราะการให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าหรือน้ำมันในราคาต่ำเกินไปประชาชน​อาจคิดว่าพลังงานเป็นของที่ไม่มีราคาแพง เพราะยังรู้สึกว่าสามารถจ่ายค่าพลังงานในราคานี้ได้และยังใช้พลังงานเหมือนปกติ

          เช่นเดียวกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวย้ำว่า ภาครัฐได้งัดมาตรการเข้ามาดูแลผลกระทบราคาพลังงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ คนไทยทุกคนต้องตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และต้องเริ่มประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง เพราะพลังงานจะไม่ใช่ของราคาถูกอีกต่อไป ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ปิดเมื่อไม่ใช้งาน การประหยัด​พลังงาน​ก็จะขยายจากบ้านสู่สาธารณะ​ที่สำคัญสถานประกอบการขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงงานที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าปริมาณสูงต้องมุ่งเรื่องการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังด้วย ก็จะช่วยประเทศประหยัดต้นทุนนำเข้าเชื้อเพลิงลงได้ 

          ด้านแพนเค้กเขมนิจ จามิกรณ์ นักแสดง ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในฐานะประชาชนผู้ใช้พลังงานที่ได้รับผลกระทบจากอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากในบ้านมีสมาชิกอยู่รวมกันหลายคนทำให้มีการใช้ไฟฟ้าที่ค่อนข้างเยอะ แต่ละครัวเรือนจึงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยมองว่า การประหยัดพลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัว ต้องเริ่มจาก “ตัวเรา” และสมาชิกในบ้านร่วมกันประหยัดพลังงาน เช่น ปิดสวิตช์​ถอดปลั๊ก​เมื่อเลิกใช้งาน ปิด-เปิดตู้​เย็นเท่าที่จำเป็นเปิดหน้าต่าง​เพื่อรับลมธรรมชาติแทนการเปิดแอร์​และปลูกฝังให้เด็กๆ ตระหนักถึงการประหยัดพลังงานตั้งแต่ยังอายุน้อยนอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจเรื่องการประหยัดพลังงานจะสามารถเข้าถึงเยาวชนและคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น 

          ในยามวิกฤติพลังงานยังคงอยู่ในสถานะสาหัส การปรับนิสัยการใช้ไฟฟ้าที่ทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ ตามแนวทาง 4 ป.  คือ ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็นปลดปลั๊กเมื่อเลิกใช้งานปรับแอร์26 องศาเซลเซียส และเปลี่ยนมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ไม่เพียงช่วยชาติลดการใช้พลังงาน แต่ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของเราอีกด้วย

Skip to content