กองทุน CIF แรงสนับสนุนเพื่อสิ่งแวดล้อม โอกาสของอุตสาหกรรมทำความเย็นไทย

8 February 2023

          ประเทศไทยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทำความเย็นที่สำคัญ เราเป็นผู้ส่งออกส่วนประกอบรวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องอันดับต้น ๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ แต่สารทำความเย็นที่ใช้กันมาแต่เดิมนั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ประหยัดพลังงานเท่าไหร่ หากเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนระบบทำความเย็นให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะมอบโอกาสนั้น ผ่านการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบทำความเย็นด้วย

          กองทุน CIF จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อยอดความสำเร็จจากกองทุน RAC NAMA ซึ่งองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และ กฟผ. ได้ดำเนินโครงการสำเร็จไปในเดือนมีนาคม 2564 และทำการส่งมอบเงินคงเหลือจากกองทุน RAC NAMA ประมาณ 190 ล้านบาท ให้อยู่ในการบริหารจัดการของ กฟผ. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่ยั่งยืนและผลักดันอุตสาหกรรมการทำความเย็น สู่การใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูง ด้วยสารทำความเย็นธรรมชาติที่มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มสารทำความเย็นสังเคราะห์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) และมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) อีกด้วย ทั้งนี้ กองทุนมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2567

สำหรับการดำเนินงานของกองทุน CIF ที่ กฟผ. ได้ดำเนินการแล้ว 3 มาตรการ ได้แก่

  1. มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมและให้ความรู้ (Training & Education) สนับสนุนการปรับปรุงศูนย์ฝึกอบรมเดิม และจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมใหม่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) รวมทั้งสิ้น 8 ศูนย์ และจัดฝึกอบรม 2 หลักสูตร คือ การจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย และการทดสอบสมรรถนะการสอนงานด้านการจัดการสารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติและมาตรฐานด้านความปลอดภัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อีกด้วย

  2. มาตรการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (Demonstration and Pilots Project) โดยการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ดังนี้
    • การปรับเปลี่ยน/ติดตั้งระบบทำความเย็นแบบ Water-Loop Cooling System ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ในระบบแช่เย็นและแช่แข็งภายในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ร่วมกับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และจะมีความร่วมมือกับบริษัท สุวรรณชาด จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ (Golden Place) เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
    • การปรับเปลี่ยน/ติดตั้งตู้แช่เชิงพาณิชย์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ร่วมกับกลุ่มธุรกิจร้านค้า จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีอาร์จี อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ด จำกัด และบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด
    • โครงการพัฒนาตู้แช่เย็นพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้หลักการทำความเย็นด้วยการดูดซับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ (สารทำความเย็น Acetone) ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อศึกษาวิจัยการทำความเย็นในรูปแบบใหม่ในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า
    • โครงการภายในของ กฟผ. เป็นโครงการสาธิตการทำความเย็นในรูปแบบใหม่ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับระบบปรับอากาศศูนย์เครื่องจักรกลท่าทุ่งนา โครงการพัฒนาระบบทำความเย็นแบบอัดไอที่ใช้น้ำ (R718) เป็นสารทำงาน และโครงการประเมินสมรรถนะของการทำความเย็นแบบชุมชนด้วยเครื่องทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติสำหรับอาคารที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา
    • อยู่ระหว่างศึกษาโครงการส่งเสริมการจัดการของเสียจากอุปกรณ์/ระบบทำความเย็น (Circular Economy and Waste Management) โดยการส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศอย่างถูกวิธี และดูดกลับสารทำความเย็นจากการถอดติดตั้ง ซึ่งจะทดลองนำร่องในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดใกล้เคียง
  3. มาตรการสนับสนุนศูนย์ทดสอบอุปกรณ์ทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (Standard and Testing) สนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) ในการจัดสร้างห้องปฏิบัติการทดสอบตู้แช่เย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย เพื่อรองรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาสู่ตลาดมากขึ้นในอนาคต

          นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมกับ GIZ ส่งเสริมและขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว ระยะที่ 3 (Green Cooling Initiative (GCI) III) ในประเทศไทย และสนับสนุนให้เกิดการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้กองทุน CIF ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) อีกด้วย

          ดังนั้น เริ่มต้นปี 2566 นี้ กฟผ. จึงขอเริ่มด้วยการเชิญชวนผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ร่วมยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับทุนสำหรับโครงการภายใน กฟผ. ที่เกี่ยวกับระบบทำความเย็นและการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ และเชิญชวนบริษัทที่สนใจ เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยน/ติดตั้งระบบทำความเย็นแบบ Water-Loop Cooling System ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ รอบที่ 2 และโครงกาปรับเปลี่ยน/ติดตั้งตู้แช่เชิงพาณิชย์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ รอบที่ 2 รายละเอียดตามประกาศการรับสมัครนี้ หรือ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ กฟผ. ดาวน์โหลดเอกสารประกาศ Water Loop ดาวน์โหลดเอกสารประกาศ Top Tier

Skip to content