รู้ทัน…ป้องกันภัย เมื่อฝุ่น PM2.5 มา

23 February 2023

          จากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน หลายจังหวัดของไทยมักประสบกับปัญหา “ฝุ่นจิ๋ว หรือ PM2.5” จำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเราคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากปัจจัยของสภาพอากาศปิด การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร และไฟป่าที่เกิดขึ้นไม่เว้นวัน

          เมื่อไม่อาจหลีกหนีจากปัญหาฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ได้ การเฝ้าระวังค่าฝุ่น PM2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่เราทุกคนสามารถทำได้เพื่อระมัดระวังตนเอง

ติดตามค่าฝุ่นผ่านแอปพลิเคชัน Sensor for All

          แอปพลิเคชัน Sensor for All เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลจากเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองที่ติดตั้งบริเวณโรงไฟฟ้า โรงงานขนาดใหญ่ สี่แยกไฟแดงที่มีการจราจรหนาแน่น สถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัดรวม 1,262 จุด ทั่วประเทศ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน สำนักงานพลังงานจังหวัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่บูรณาการฐานข้อมูลคุณภาพอากาศของแต่ละหน่วยงาน เพื่อติดตามรายงานผลคุณภาพอากาศผ่าน Sensor for All แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ให้เราเฝ้าระวังและวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สวมใส่หน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง

ผนึกพลังจิตอาสาจัดทีมเฝ้าระวังไฟป่า

          สำหรับพื้นที่ป่าต้นน้ำและพื้นที่เสี่ยงที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้งโดยรอบเขตเขื่อนและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. พนักงานจิตอาสาของ กฟผ. ได้ร่วมกับคนในชุมชนเฝ้าระวังและร่วมดับไฟป่าซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาหมอกควันเพื่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบน้อยที่สุด อาทิ ทีมเสือดำดับไฟป่า ของ กฟผ.เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ที่ทำหน้าที่เป็น “หน้าด่าน” คอยเฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่ป่ารอบเขื่อนภูมิพลทั้งสองฝั่งของแม่น้ำปิงที่ กฟผ. ดูแล กว่า 15,000 ไร่ ซึ่งต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่าลุกลาม เช่นเดียวกับ ทีมเสือไฟ ของ กฟผ.เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ โดยในปีนี้ต้องเริ่มดับไฟป่าในพื้นที่เขตติดต่อป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ควบคู่กับการทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่าลามเข้ามาในพื้นที่โรงไฟฟ้า

          ส่วนที่ จ.ลำปาง ทีมป้องกันไฟป่า กฟผ. แม่เมาะ ต้องจัดทีมลาดตระเวนเข้าสำรวจพื้นที่เสี่ยงเป็นระยะและเฝ้าระวังจุดที่เกิดความร้อน (Hotspot) ในแต่ละวัน ตลอดจนเตรียมอุปกรณ์ดับไฟไว้ให้พร้อมต่อการใช้งานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกน้ำ รถดับเพลิง รวมถึงวิทยุสื่อสารเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดซึ่งเมื่อเกิดเหตุไฟป่าก็จะแจ้งให้หน่วยงานที่ดูแลการดับไฟทราบเป็นการเร่งด่วน ในขณะที่ภาคตะวันตก ทีมเหยี่ยวไฟ ของเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ต้องแบ่งกำลังพลรอบละ 16 – 17 คน คอยลาดตระเวนในป่ารอบเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณที่มีลักษณะเป็นเขาสูงลาดชันจึงต้องอาศัยความชำนาญในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังผู้ลักลอบจุดไฟเผาป่าเพื่อหาเห็ดและของป่าไม่ให้เกิดการลุกลามเข้าไปในพื้นที่ชุมชนและโรงไฟฟ้า

รู้เท่าทันไฟป่าด้วย “Lampang Hotspot”

          แอปพลิเคชัน Lampang Hotspot เป็นนวัตกรรมที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยจัดการปัญหาไฟป่า โดยมุ่งเน้นตรวจจับและแจ้งเตือนจุดความร้อนที่แสดงบนแผนที่แต่ละวันแบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบทิศทางของลมเพื่อคาดการณ์แนวของการพัดพาการลุกไหม้ของไฟไปยังพื้นที่อื่น ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบและเข้าระงับไฟป่าได้ทันเวลาก่อนที่ไฟจะลุกลาม นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลการเกิดจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในแต่ละปีจากแอปพลิเคชันมาประมวลเป็นสถิติพื้นที่ที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง ทำให้สามารถเฝ้าระวังและสำรวจเส้นทางในการเข้าดับไฟป่าล่วงหน้าด้วย รวมถึงยังสามารถแจ้งเตือนสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ เพื่อเตรียมรับมือในการดำเนินชีวิตประจำวันและป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่านทาง Google Play และ App Store

ผสานพลังชุมชนลดเผาสู่เชื้อเพลิงชีวมวล

          นอกจากนี้ กฟผ. แม่เมาะ ยังนำร่องแนวคิดพลังงานอัจฉริยะมาใช้แก้ปัญหาในเรื่องหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการส่งเสริมการรับซื้อเปลือก ซังข้าวโพด และเศษไผ่จากชุมชนจางเหนือในโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ปีละประมาณ 1,000 ตัน นำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Biomass Pellet) เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับถ่านหินลิกไนต์ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ

หนุนใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

          อีกหนึ่งแนวทางลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เห็นผลได้อย่างชัดเจนคือ การเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการเดินทาง โดยติดตั้งและให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้ว 104 สถานีทั่วประเทศ และตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT ให้ได้มากกว่า 150 สถานี ภายในปี 2566 รวมถึงนำร่องรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะในพื้นที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นรถโดยสารสาธารณะที่มีจำนวนมากเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนได้ร่วมลดในระบบคมนาคมอีกทางหนึ่งด้วย

          ทั้งหมดข้างต้นเป็นความตั้งใจของ กฟผ. ที่มุ่งหวังมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองอันเป็นวาระที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจช่วยกัน ทั้งการลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง ร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายสังคมปลอดคาร์บอนอย่างยั่งยืน และคืนอากาศสะอาดให้คนไทย

Skip to content