เขื่อนวชิราลงกรณ ขับเคลื่อนความยั่งยืน ด้านพลังงาน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมตามพระราชปณิธานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

28 July 2023

         “เขื่อนวชิราลงกรณ” เดิมชื่อว่าเขื่อน “เขาแหลม” ตั้งอยู่ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2522 แล้วเสร็จในปี 2527 โดยวันที่ 9 มกราคม 2529 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนเขาแหลม อย่างเป็นทางการ ต่อมาในวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “เขื่อนวชิราลงกรณ” ตามพระนามาภิไธยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร แทนชื่อ “เขื่อนเขาแหลม”

         ตลอดเวลา 37 ปี เขื่อนวชิราลงกรณ ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สร้างคุณประโยชน์อนันต์ให้กับประชาชน โดยทำหน้าที่เก็บกัก-ปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภค บริโภค ผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งเป็นแหล่งประมงน้ำจืด และการปล่อยน้ำเพื่อกระบวนการเหล่านั้นทำให้เกิดผลพลอยได้เป็นกระแสไฟฟ้า นอกจากนั้นยังร่วมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ เขื่อนฯ ให้อยู่ดีมีสุข อาทิ โครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม เป็นต้น สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและชุมชนรอบเขื่อนอย่างยั่งยืน

         ชุมชนยั่งยืน ด้วย โคก หนอง นา โมเดล

         เขื่อนวชิราลงกรณ กฟผ. ได้เดินตามแนวคิด “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งเป็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งรัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ในการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับการเกษตร ผสมผสานการเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ  เป็นการทำเกษตรในพื้นที่จำกัด แต่สามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างเห็นผล เปลี่ยนแนวคิดสู่การทำเกษตรอินทรีย์แบบไม่ใช้สารเคมี และสร้างความเข้าใจในการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง

         ภายในเขื่อนวชิราลงกรณ ได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ.  เขื่อนวชิราลงกรณ “โคก หนอง นา โมเดล” 1  ใน 10 ศูนย์ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ 7 เขื่อนพระนาม3 โรงไฟฟ้า กฟผ. อันได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีคณะวิทยากรประจำศูนย์ฯ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคก หนอง นา ซึ่งเปิดโอกาสให้ลงมือปฏิบัติจริงใน 9 ฐานการเรียนรู้ เช่น ฐานคนรักษ์ป่า เรียนรู้การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการปลูกไม้ 5 ระดับ ฐานคนรักษ์น้ำ เรียนรู้การจัดการน้ำโดยหลักธรรมชาติ อาทิ การขุดคลองไส้ไก่ การทำฝายน้ำล้น และฝายถาวร ฐานคนมีไฟ เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้โซลาร์เซลล์สำหรับการเกษตร เป็นต้น  มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืน 3 ด้าน ด้านอาหาร ด้านน้ำ และด้านพลังงาน

         นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษาฯ ยังได้จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ สถาบันการศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปมาแล้วกว่า 7 รุ่น เพื่อให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประชาชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมอบรมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดตามข้อมูลได้จากเพจ Facebook ศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล เขื่อนวชิราลงกรณ

         ปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เพื่อป่าไม้ที่ยั่งยืน

         กฟผ. ใช้หลักการ “ปลูกป่า” เพื่อสร้างความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ ในปี 2565 กฟผ. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินการปลูกป่าไปแล้วกว่า 104,000 ไร่ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ปลูกฟื้นฟูสภาพป่าไม้ในพื้นที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มุ่งเน้นการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ  นอกจากนี้ยังร่วมเพาะพันธุ์และผลิตกล้าไม้กับสถานศึกษาและภาคประชาชน พร้อมจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ความตระหนักในการอนุรักษ์ป่า “สร้างคน สร้างป่า สร้างโลกให้เย็น”

         เขื่อนวชิราลงกรณ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรปลูกป่าในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่งเสริมฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และชะลอปริมาณน้ำไหลเซาะหน้าดิน รวมถึงฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ได้รับความเสียหาย ให้มีความสมบูรณ์กลับสู่สภาพเดิม พร้อมร่วมรักษาระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ด้วยการสร้างฝายชะลอความเร็วของน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมถึงให้ชุมชนได้มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งการสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน จะทำให้เกิดความหวงแหน และมีใจรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของตนอีกด้วย

          กฟผ. เทิดพระเกียรติในหลวง ร.10 พระชนมายุ 71 พรรษา

         เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 71 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (28 กรกฎาคม 2566) เขื่อนวชิราลงกรณ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยมีการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่เหลือให้คงอยู่ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยปลูกต้นไม้บริเวณเขื่อน 710 ต้น และโรงเรียนรอบเขื่อน 20 โรงเรียน 710 ต้น รวมกว่า 1,420 ต้น ประกอบไปด้วยต้นรวงผึ้ง ต้นเหลืองเชียงราย ต้นประดู่ป่า ต้นนนทรี และต้นทองอุไร

         พร้อมกิจกรรมอบรมศาสตร์พระราชา โคก หนอง นา โมเดล ร่วมกับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ กิจกรรมอบรมแกนนำห้องเรียนสีเขียว กิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาเฉลิมพระเกียรติ 710,710 ตัว แบ่งเป็น ปลาบึก 710 ตัว พันธุ์ปลา กุ้ง และอื่น ๆ 710,000 ตัว กิจกรรมออกหน่วยแว่นแก้วให้บริการประชาชน 710 คน กิจกรรมมอบชุดนักเรียนเบอร์ 5 แก่ 20 โรงเรียน จำนวน 710 ชุด  เป็นต้น นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานของ กฟผ. ทั่วประเทศ ยังมีกิจกรรมเทิดพระเกียรติ ร.10 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและแสดงถึงความจงรักภักดีกันอย่างพร้อมเพรียงด้วย

         เขื่อนวชิราลงกรณ ยังมีกิจกรรมที่มุ่งดูแลสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนอีกมากมาย เช่น การส่งเสริมอาชีพ ผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมเปิดพื้นที่ให้ชุมชนนำสินค้ามาจำหน่ายในเขื่อนภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าท่องเที่ยว เป็นต้น “กฟผ. มุ่งมั่นดูแลรักษาความมั่นคงด้านพลังงานภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

Skip to content