“อาคาร 50 ปี กฟผ.” คว้ารางวัล Thailand Energy Awards 2022 สะท้อนความมุ่งมั่นของ กฟผ. ในการร่วมอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน

22 October 2023

อาคาร 50 ปี กฟผ.

         กฟผ. รับรางวัลดีเด่น ด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (อาคารใหม่) ในเวที Thailand Energy Awards 2022 จากผลงานการออกแบบ “อาคาร 50 ปี กฟผ.” ที่โดดเด่น ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุอนุรักษ์พลังงานในการก่อสร้าง อุปกรณ์ไฟฟ้าและการวางระบบภายในอาคารให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการร่วมอนุรักษ์พลังงานที่ยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ของประเทศไทย
         นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Thailand Energy Awards 2022 จัดโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เพื่อยกย่องชื่นชมผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยมี นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวรายงาน ในการนี้ ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. เป็นผู้แทน กฟผ. เข้ารับรางวัลดีเด่น ด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทอาคารสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน อาคารใหม่ (New & Existing Builging) จากผลงาน “อาคาร 50 ปี กฟผ.” โดยมีผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารหรือผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัล เข้าร่วมพิธี ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ

         สำหรับ “อาคาร 50 ปี กฟผ.” เป็นอาคารสำนักงานสูง 20 ชั้น ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงาน และคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนทางพลังงาน และสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลัก Universal Design และแนวคิด EGAT for ALL: กฟผ. เป็นของทุกคน ทำเพื่อทุกคน โดยตัวอาคารออกแบบรูปทรงให้มีลักษณะโค้งมนเป็นวงรี เพื่อลดพื้นที่ผิวในการถ่ายเทความร้อน (Minimum Heat Transfer) รวมถึงลดการรั่วซึมของอากาศเข้าสู่อาคาร (Minimum Infiltration) และมีการใช้วัสดุ Reuse และ Recycle ทั้งในส่วนของอาคารและงานตกแต่งภายใน และตัวอาคารยังมีทางเชื่อมต่อไปยังกลุ่มอาคารสำนักงานใหญ่ และอาคารจอดรถ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถสัญจรติดต่อกันได้โดยสะดวก ท่ามกลางทิวทัศน์สีเขียวของสวนต้นไม้ใหญ่หลากหลายสายพันธุ์รอบอาคาร สร้างความร่มรื่นสวยงาม เป็นต้นแบบที่ดีด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

         อาคาร 50 ปี กฟผ. มีความโดดเด่นด้านการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการใช้ระบบปรับอากาศที่มีเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงานแบบระบบคานทำความเย็น (Chilled Beam System) ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานลงได้กว่า 30% จากระบบปรับอากาศที่ออกแบบใช้งานในอาคารอนุรักษ์พลังงานทั่วไป ขณะที่ระบบแสงสว่างของอาคาร เน้นการออกแบบ ที่ผสานการใช้แสงธรรมชาติร่วมกับหลอดไฟ (Light Emitting Diode: LED) ประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ความสว่างกับพื้นที่ อาคารและบริเวณโดยรอบ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ Light Sensor และ Motion Sensor ทำให้ค่าการใช้พลังงานของระบบไฟฟ้าแสงสว่างเหลือเพียง 8.9 วัตต์/ตร.ม. ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐาน Building Energy Code ที่กำหนดให้ต้องมีค่าไม่เกิน 14 วัตต์/ตร.ม. และยังได้ติดตั้ง Solar Roof ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 50.49 kW. บนหลังคาของหอประชุม Auditorium อีกด้วย

         นอกจากนี้  ยังมีการออกแบบให้สามารถใช้ทรัพยากรอื่น ๆ อย่างประหยัดและคุ้มค่า มีการบริหารจัดการน้ำ โดยออกแบบน้ำทิ้งจากอ่างล้างมือและจากพื้นห้องน้ำ (Floor Drain) ของอาคารมาบำบัด เพื่อนำน้ำกลับมาใช้กับสุขภัณฑ์ของหอประชุม Auditorium รวมทั้งออกแบบบ่อหน่วงน้ำสำหรับกักเก็บน้ำที่รวบรวมจากระบบระบายน้ำ และน้ำฝนบริเวณรอบอาคาร นำมารดต้นไม้ โดยน้ำส่วนเกินที่เหลือจากการใช้งานจะไหลลงบ่อซึมน้ำเพื่อให้น้ำค่อย ๆ ซึมผ่านดินด้วยวิธีธรรมชาติต่อไป ส่งผลให้เป็นอาคารที่มีการบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร

         ทั้งนี้ นอกเหนือจากรางวัลดังกล่าวแล้ว อาคาร 50 ปี กฟผ. ยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด ASEAN Energy Awards 2022 ซึ่งจัดขึ้นโดย ASEAN Centre for Energy (ACE) หรือ ศูนย์พลังงานอาเซียน โดยได้รับรางวัล Winner of the New & Existing Building Award under Energy Efficient Building of The ASEAN Energy Efficiency and Conservation Awards 2022 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 รวมถึงยังเคยได้รับฉลากแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และโล่ประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2563 ในระดับดีมาก ตามเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code: BEC) ของกระทรวงพลังงาน รวมถึงได้การรับรองมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) จาก USGBC (U.S. Green Building Council) ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเภท อาคารใหม่ ในระดับ Platinum ที่เป็นเกณฑ์การประเมิน ระดับสูงสุดในการก่อสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานที่ยั่งยืน และเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ของประเทศไทย

Skip to content