20 ปี สอศ. – กฟผ. ร่วมสร้างความยั่งยืนให้สังคม ด้วยโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

23 February 2024

         2 องค์กรใหญ่ สอศ. – กฟผ. น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อเนื่องกว่า 20 ปี สร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้สังคม ชุมชนทั่วประเทศ

         วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2567) สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือและมอบรางวัลโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “20 ปีชีววิถี สร้างประโยชน์แก่พื้นที่อย่างยั่งยืน” ณ กฟผ. สำนักงานใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยมีพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยเรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการ สอศ. นายเมธาวัจน์ พงศ์รดาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ กฟผ. คณะผู้บริหาร และแขกผู้มีเกียรติร่วมในพิธี

         การลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2567 – 2571 ระหว่าง สอศ. และ กฟผ. ในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดขยายผล โดยบูรณาการการดำเนินงานโครงการชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กับโครงการ โคก หนอง นา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มบริบทในการบริหารจัดการน้ำ ปรับลดข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งเปิดกว้างในการใช้สารชีวภาพที่หลากหลาย มุ่งเน้นการขยายผลสู่ชุมชน และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอด ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่

         ตั้งแต่ปี 2546 สอศ. และ กฟผ. ได้ร่วมกันดำเนินโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระหว่างธรรมชาติและการดำรงชีวิตของมนุษย์ นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาพัฒนาเพื่อใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เน้นการปลอดสารพิษเป็นหลักสำคัญ ไม่ก่อหนี้สิน คำนึงถึงการรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยดำเนินงานในสถานศึกษาสังกัด สอศ. ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 110 แห่งทั่วประเทศ พร้อมขยายผลสู่ครู นักเรียน โรงเรียน และชุมชนรอบบริเวณสถานศึกษา ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการจัดทำสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในโครงการฯ รวมถึงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มภายในชุมชน สร้างอาชีพด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน

         นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการมอบรางวัลการประกวดผลงานโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างปี 2563 – 2565 รวมทั้งสิ้น 104 รางวัล และจัดแสดงนิทรรศการ ผลงาน สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม จากสถานศึกษา และชุมชนที่ได้รับรางวัล อาทิ ชุดชิงช้าปลูกผักเลี้ยงปลาระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา ชุดปฏิบัติการเครื่องให้อาหารฉีดพ่น EM ให้น้ำพืชอัตโนมัติพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคุมด้วย Smartphone พร้อมกล้องวงจรปิด จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร

         ตลอดระยะเวลา 20 ปี ของการดำเนินงานโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้สร้างบุคลากรทางการศึกษา และราษฎรได้นำโครงการชีววิถีฯ ไปใช้ขยายผลดีเด่น มากกว่า 360 คน เกิดชุมชนต้นแบบชีววิถี จำนวน 474 ชุมชน และได้ยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชนถึง 18 แห่ง หรือ 2,346 ครัวเรือน อีกทั้งมีโรงเรียนที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยและนำไปใช้ได้ผลดีเด่นจำนวน 22 โรงเรียน เกิดงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม มากกว่า 300 ผลงาน 

Skip to content