ฮีโร่ Hotline กับภารกิจสุดท้าทายแบบไม่ดับไฟ

22 March 2024

          Safety First หรือ ปลอดภัยไว้ก่อน ถือเป็นหนึ่งในสโลแกนที่หลาย ๆ คนยึดถือ และแน่นอนว่าตามหลักความปลอดภัย การทำงานที่มีไฟฟ้าแรงดันสูงระดับแสนโวลต์ไหลผ่าน ต้องปลดไฟออกจากระบบเพื่อความปลอดภัย เพราะถ้ามีความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยก็อาจจะหมายถึงชีวิตได้ แต่ทุกนาทีที่ไฟดับคือความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล “การบำรุงรักษาระบบส่งโดยไม่ดับไฟ” จึงเป็นความท้าทาย เพื่อให้คนไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ตลอดเวลา วันนี้ขอพาทุกคนไปติดตามภารกิจของชาว Hotline ผู้ที่มีหน้าที่สุดท้าทายบนเสาไฟฟ้าแรงสูง กับภารกิจ “เดินสายส่งเส้นใหม่ ข้ามสายส่งเก่า โดยไม่ดับไฟ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานขยายระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทยมากขึ้น เสริมความมั่นคงในการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของทุกคนที่มีอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

          ตอนนี้เราอยู่กับ “พี่พัตเตอร์” หรือพี่พัฒนพงศ์ สุวรรณธวัช ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (อปน.) และทีมบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง หรือที่เรียกกันว่าทีมช่างสาย “Hotline” หน้างานอยู่ที่ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีอากาศสดใสแสงแดดแจ่มจ้ามากเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนระอุไม่ได้ทำให้ความแข็งแกร่งของทีม Hotline ของเราลดลงไปได้เลย เห็นได้จากการแต่งตัวที่ทะมัดทะแมงในชุดเซฟตี้พร้อมด้วยอุปกรณ์ครบครัน เพื่อเตรียมปฏิบัติภารกิจสำคัญบนความสูงมากกว่า 60 เมตร โดยภารกิจนี้เป็นการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเส้นใหม่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญคือต้องสร้างสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านสายส่งไฟฟ้าเส้นเดิม ความท้าทายของงานนี้ก็คือ ต้องก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าเส้นใหม่ (ช่วงที่พาดผ่านสายส่งเส้นเดิม) ให้มีความสูงเป็นพิเศษ เพราะต้องยกระดับความสูงของสายส่งให้สูงพอที่จะคร่อมพาดสายส่งเส้นเดิม โดยระยะห่างระหว่างสายส่งทั้งสองเส้นเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย และที่สำคัญต้องทำงานโดยมีกระแสไฟฟ้าแรงดันสูง 230,000 โวลต์ ไหลผ่านตลอดเวลา จึงนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของทีม Hotline ที่จะต้องเดินสายส่งไฟฟ้าให้สำเร็จโดยที่ไม่ดับกระแสไฟฟ้า!! เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าและการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล

          “พี่พัตเตอร์” ได้เผยถึงเทคนิคที่ทีม Hotline ใช้กับงานเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงโดยไม่ดับไฟว่า งานนี้เป็นการขึงสายส่งไฟฟ้าเส้นใหม่ของโครงข่ายสถานีไฟฟ้าแรงสูงลำพูน 3 – สถานีไฟฟ้าแรงสูงจอมทอง โดยการนำเชือกฉนวนขึ้นไปบนเสาส่งโครงข่ายสถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3 – สถานีไฟฟ้าแรงสูงเชียงใหม่ 3 ที่มีกระแสไฟฟ้า และปล่อยปลายเชือกทั้ง 2 ด้าน ลงด้านข้างของเสา แล้วจึงนำปลายเชือกขึ้นไปติดตั้งบนเสาส่งไฟฟ้าใหม่ทั้ง 2 ต้น เพื่อทำเป็นแนวเส้นทางให้หุ่นยนต์อเนกประสงค์ใช้เดินสายไฟฟ้า สำหรับการติดตั้งสายคอนดักเตอร์หรือสายไฟฟ้าใหม่นั้น จะต้องมีการเว้นระยะห่างกับสายส่งที่มีกระแสไฟฟ้า เพราะหากเข้าใกล้สายไฟในระยะน้อยกว่า 4 เมตร จะทำให้เกิดการลัดวงจรได้ทันที ทีม Hotline จึงใช้หุ่นยนต์อเนกประสงค์ที่คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นเองสำหรับใช้ในงานบำรุงรักษาสายส่ง (ซึ่งมีมอเตอร์ขับเคลื่อน พร้อมแบตเตอรี่ และรีโมทคอนโทรลควบคุมการทำงาน) ทำการวิ่งไต่พร้อมดึงลากเชือกฉนวนและสายไฟฟ้าไปยังตำแหน่งที่ต้องการ โดยใช้งานร่วมกับรอกพวงที่ร้อยกับเชือกรองรับน้ำหนักสายไฟฟ้าเส้นใหม่ ลากสายไฟฟ้าข้ามไปยังเสาส่งอีกต้นเพื่อทำการติดตั้ง ซึ่งรอกจะช่วยเว้นระยะห่างพร้อมรองรับน้ำหนักสายไฟไม่ให้หย่อนลงไปเข้าใกล้สายส่งไฟฟ้าที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้า

          “วิธีการนี้ ทำให้เราสามารถทำงานในสภาวะที่ไม่ต้องดับกระแสไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทุก ๆ คนในทีมมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติภารกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ใช้ไฟสามารถใช้ไฟได้อย่างต่อเนื่อง” พี่พัตเตอร์กล่าว

          ด้วยความเชี่ยวชาญของทีม Hotline ซึ่งยึดหลักการทำงานที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานเป็นสำคัญ บวกกับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยในการทำงานอยู่เสมอ ทำให้ในปัจจุบันภารกิจด้านระบบส่งไม่ว่าจะเป็นงานปรับปรุง หรืองานบำรุงรักษาสายส่ง ไม่จำเป็นต้องดับกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้พลังงานไฟฟ้าส่งจ่ายไปถึงผู้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภารกิจด้านระบบส่งไฟฟ้าจึงนับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาว กฟผ. ตลอดระยะเวลา 55 ปี ในการร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า

Skip to content