36 ปี เขื่อนศรีนครินทร์ ก้าวไกลใส่ใจชุมชน-สิ่งแวดล้อม ร่วมคิด/พัฒนาตามแนว“พอเพียง”

12 June 2017

          เขื่อนศรีนครินทร์เกิดขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง เป็นโครงการอเนกประสงค์เพื่อพัฒนาด้านการเกษตรและชลประทาน มีพื้นที่โครงการประมาณ 3 ล้านไร่ ซึ่งนอกจากจะอำนวยประโยชน์ด้านการชลประทาน การจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค การบรรเทาอุทกภัย และการประมงแล้ว ยังครอบคลุมถึงการคมนาคม และการพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย

    เขื่อนศรีนครินทร์หรือเดิมเรียกว่า “เขื่อนบ้านเจ้าเณร” เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำบนลำน้ำแควใหญ่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ศึกษาและสำรวจความเหมาะสมของโครงการ และออกแบบก่อสร้างระหว่างปี 2508-2515 เริ่มก่อสร้างในปี 2516 และนำเข้าใช้งานอย่างสมบูรณ์ในปี 2523 ได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาขนานนามเขื่อน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2520 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2524

    เขื่อนศรีนครินทร์สร้างขึ้นปิดกั้นลำน้ำแควใหญ่ ที่บ้านเจ้าเณร ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ตัวเขื่อนเป็นแบบหินถมแกนดินเหนียวสูง 140 เมตร สันเขื่อนยาว 61 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 419 ตารางกิโลเมตร ความจุ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำนวน 5 เครื่อง เครื่องที่ 1-3 กำลังผลิตเครื่องละ 120,000 กิโลวัตต์ เครื่องที่ 4-5 เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบบสูบกลับกำลังผลิตเครื่องละ 180,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 720,000 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถสูบน้ำกลับไปยังอ่างเก็บน้ำเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

    การดำเนินการที่ผ่านมา เขื่อนศรีนครินทร์สามารถเดินเครื่องเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2523-2559 รวมทั้งสิ้น 46,547.74 ล้านหน่วย สามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันเตาได้ 11,637 ล้านลิตร รวมถึงลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ 24,438 ล้านกิโลกรัม CO2 ทั้งนี้ รวมถึงการดูแลตรวจสอบความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยกำหนดให้มีการเข้าตรวจสอบเป็นประจำทุกสัปดาห์ อีกทั้ง ยังร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าตรวจสอบและเผยแพร่ของข้อมูลข่าวสารที่สำคัญให้แก่หน่วยงานราชการ สื่อมวลชน เพื่อให้ชุมชนได้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้แก่ชุมชนที่อาศัยอยู่ตลอดลำน้ำ

    เขื่อนศรีนครินทร์ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับของ จ.กาญจนบุรี และของประเทศ รวมไปถึงนานาประเทศที่หลั่งไหลมาเยี่ยมชมปีละกว่า 7 แสนคน โดยเขื่อนศรีนครินทร์ได้จัดบริการด้านต่างๆ ไว้รองรับ อาทิ บ้านพักรับรอง ร้านอาหาร สนามกีฬาประเภทต่างๆ ทั้งกลางแจ้งและในที่ร่ม รวมถึงการจัดห้องประชุมสัมมนาสำหรับหมู่คณะอีกด้วย

    เป็นแหล่งศึกษาความรู้ด้านวิชาการ ที่เหมาะกับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ในการเดินทางมาหาความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ โครงการสนองงานตามแนวพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ที่อาคารศูนย์เรียนรู้ราชานุรักษ์ นอกจากนั้น ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ยังมีข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงต่างๆ จำลองการเกิดแผ่นดินไหว รวมทั้งการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามเขตเขื่อนโรงไฟฟ้าต่างๆ ของ กฟผ. เป็นต้น

    ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 36 ปี เขื่อนศรีนครินทร์ได้ดำเนินนโยบายด้านชุมชนสัมพันธ์ ที่ถูกถ่ายทอดสู่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ โดยยึดถือปฏิบัติเสมือนหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกับชุมชน โดยการมุ่งเน้นพัฒนาชุมชนยั่งยืน จวบจนกระทั่งปัจจุบัน ได้มีการนำแนวทางงาน CSR และกำลังขยับเข้าสู่ CSV (ตามยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0) มาดำเนินการ โดยดำเนินการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้วยการทำกิจกรรมในชุมชน ส่วนใหญ่พี่น้องชาวเขื่อนศรีนครินทร์ จะเริ่มต้นด้วยการจัดทำแผนที่ศักยภาพทางสังคม เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นจิตอาสาได้มีแนวทางในการเข้าถึงและพบปะกับชุมชน รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลของชุมชน เพื่อต่อยอดร่วมคิดร่วมพัฒนากับชุมชนต่อไปในอนาคต

    มีการลงพื้นที่หาข้อมูลจากชุมชน ประกอบด้วยจัดแผนที่ชุมชนเดินดิน เพื่อให้ทราบองค์ประกอบด้านพื้นที่ของชุมชนว่า จุดสำคัญของหมู่บ้านอยู่ที่ใดบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลในการเข้าชุมชนในอนาคต ในการติดต่อประสานงานต่างๆ การหาข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน จะทำให้ทราบสภาพของชุมชนที่อยู่เดิม สามารถบ่งบอกความถนัดในการประกอบอาชีพของชุมชนดั้งเดิมได้ เพื่อการต่อยอดอาชีพในอนาคต ข้อมูลผังโครงสร้างองค์กรชุมชน ซึ่งจะทำให้รู้ว่าชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มกันอย่างไร เพื่อหาข้อมูลด้านเศรษฐกิจของชุมชน จัดทำปฏิทินชุมชน เพื่อทราบข้อมูลประเพณีของท้องถิ่น และการประกอบอาชีพในช่วงต่างๆ หาข้อมูลปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อค้นหาศักยภาพของผู้รู้ในหมู่บ้าน เพื่อนำมาประกอบการพัฒนาต่อไปในอนาคต

    จากนั้นจะมีการดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาอาชีพจากศักยภาพของชุมชน โดยเขียนแผนร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาชุมชนนั้นๆ อย่างยั่งยืน ปัจจุบันแผนงานที่พัฒนาชุมชนส่วนใหญ่มาจากอาชีพดั้งเดิมของชุมชน คือ อาชีพด้านการเกษตร ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมให้มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์ อาทิ การสร้างฝาย การปลูกป่า ทำให้ชุมชนเกิดอาชีพ และสร้างตลาดของชุมชนเอง โดยปัจจุบันมีถนนคนเดินหม่องคอย ณ บริเวณวัดหม่องกระแทะ ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เป็นอีกหนึ่งตลาดที่เกิดจากชุมชน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชุมชน

    มีแหล่งเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน ตั้งอยู่ที่ ต.หนองเป็ด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เป็นทั้งที่ศึกษาเรียนรู้ และเป็นช่องทางการตลาดของชุมชนที่สามารถนำสินค้ามาฝากขาย โดยมีแนวร่วมและตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่ นายพัฒน์พงศ์ มงคลกาญจนคุณ

    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของกิจกรรมต่างๆ โดยเขื่อนศรีนครินทร์หวังว่า การดำเนินกิจกรรมต่างๆ นั้น จะส่งผลให้ชุมชนชาวศรีสวัสดิ์และชุมชนในจังหวัดกาญจนบุรี จะมีความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่ไปกับการการระบายน้ำและผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างฐานรากที่มั่นคงของประเทศชาติ

ตามคำที่ว่า “ ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย”

    
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน เขียนโดย ปิยรัชต์ จงเจริญ

Skip to content