ความเป็นมาโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เห็นความสำคัญในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เกิดใหม่ทดแทนได้อีก และช่วยลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน)

ในประเทศไทยยังมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับ กฟผ. ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีการศึกษาและการดำเนินการโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) เพื่อกำจัดและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และสอดคล้องกับการปฏิบัติตามพันธกรณในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) โดย กฟผ. ได้ประกาศเป็นนโยบายเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2550 และแนวทางการปฏิบัติการดำเนินงานโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมของ กฟผ. ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2550

โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทาน เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยใช้พลังน้ำในการผลิตไฟฟ้าซึ่งมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น เป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ณ บริเวณท้ายเขื่อนของกรมชลประทานที่มีอยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนรอบโรงไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจะผลิตไฟฟ้าเมื่อกรมชลประทานระบายน้ำลงสู่ท้ายน้ำตามแผนการปล่อยน้ำตามปกติของกรมชลประทาน จึงไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำทั้งน้ำเหนือ และท้ายน้ำ โดย กฟผ. และกรมชลประทานได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2550 ปัจจุบันได้ดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนชลประทานแล้วจำนวนทั้งสิ้น 3 ระยะ ได้แก่

          ระยะที่ 1 จำนวน 6 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนนเรศวร เขื่อนแม่กลอง เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน กำลังผลิตรวม 78.70 เมกะวัตต์

          ระยะที่ 2 จำนวน 3 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนคลองตรอน และท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์ (เป็นเขื่อนในความดูแลของ กฟผ.) กำลังผลิตรวม 9.25 เมกะวัตต์ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติโครงการไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554

เขื่อนกำลังผลิต (เมกะวัตต์)กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
เขื่อนกิ่วคอหมา5.509 เมษายน 2561
เขื่อนคลองตรอน2.5016 ธันวาคม 2563
ท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์1.2529 พฤศจิกายน 2562

          ระยะที่ 3 จำนวน 1 เขื่อน คือ เขื่อนผาจุก กำลังผลิต 14 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565

สำหรับโครงการระยะที่ 4 กฟผ. ได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมในการขออนุมัติพัฒนาโครงการในปี 2565-2566 ตามแผน PDP2018 Rev.1 จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
เขื่อนกำลังผลิต (เมกะวัตต์)ประมาณการแล้วเสร็จ
โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา1.502568
โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำปาว
จ.กาฬสินธุ์
2.502568
โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยแม่ท้อ
จ.ตาก
1.252569
โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนกระเสียว
จ.สุพรรณบุรี
1.502569
*ข้อมูลอ้างอิงจากรายงานประจำปี 2565

ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ

  1. เพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในเขตอำเภอและพื้นที่ใกล้เคียง โดยประชาชนในพื้นที่ยังคงได้รับน้ำเพื่อการชลประทานในปริมาณเท่าเดิม
  2. องค์การบริหารท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีอากร สามารถนำไปพัฒนาท้องถิ่น
  3. เกิดการจ้างแรงงานในท้องถิ่นในช่วงก่อสร้างโครงการ
  4. ประหยัดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพงจากต่างประเทศได้
  5. ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อน
  6. สมทบเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนในเขตพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เพื่อนำไปใช้พัฒนาอาชีพ การศึกษา ศาสนา กีฬา สาธารณสุข แก่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า
  7. เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้แก่เขื่อน และท้องถิ่นใกล้เคียง
Skip to content