โรงไฟฟ้าจะนะ

การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้าจะนะ ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่ การจัดซื้อที่ดิน งานมวลชนสัมพันธ์ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา การจัดซื้อ การออกแบบ การผลิต การขนส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ งานติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซ เครื่องผลิตไอน้ำ เครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำ อุปกรณ์ไฟฟ้า และระบบควบคุม และงานทดสอบการเดินเครื่อง

โรงไฟฟ้าจะนะเริ่มทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบรายงานเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 จากนั้นคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2548 และคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2548 จากนั้น กฟผ. เริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยลำดับและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์เมื่อ วันที่ 15 กรกฎาคม 2551

ชุมชนมีส่วนร่วมกับโครงการโรงไฟฟ้าตั้งแต่ช่วงก่อนดำเนินโครงการ ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน และมีส่วนสำคัญในการกำหนดมาตรการต่างๆ ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและในระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการตลอดจนดำเนินโครงการชุมชนมีส่วนร่วมผ่านคณะกรรมการและคณะทำงานไตรภาคี รวม 5 ชุด ดังนี้

  1. คณะกรรมการร่วมติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานและพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน
  2. คณะทำงานการมีส่วนร่วมและกลั่นกรองแผนในการพัฒนาชุมชน (นายอำเภอจะนะ – ประธาน)
  3. คณะทำงานติดตามตรวจสอบการสูบน้ำในคลองโพมาและคุณภาพน้ำทิ้งในคลองบางเป็ด (ปลัดอาวุโสอำเภอจะนะ – ประธาน)
  4. คณะผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าจะนะ (ผู้อำนายนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 16 – ประธาน)
  5. อาสาสมัครสิ่งแวดล้อม (กฟผ. 4 คน, ชุมชน 4 คน) คณะกรรมการ และคณะทำงานทั้ง 5 ชุด มีผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ชาวบ้าน และตัวแทนชุมชน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการและคณะทำงาน

ในช่วงระหว่างก่อสร้าง กฟผ. จัดสรรงบประมาณปีละ 5.1 ล้านบาททุกปี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดย 5 ตำบลรอบในประกอบด้วย ตำบลคลองเปียะ ป่าชิง ตลิ่งชัน นาทับ และจะโหนง ได้งบประมาณปีละ 500,000 บาท ส่วน 9 ตำบลรอบนอกได้รับปีละ 280,000 บาท โดยชุมชนเป็นผู้เสนอโครงการและบริหารโครงการกันเอง เช่น จัดซื้ออุปกรณ์การศึกษา คอมพิวเตอร์ ค่าตอบแทนครูสอนศาสนา ก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สวนสาธารณะ ปรับปรุงมัสยิด เป็นต้น

มีการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน และตรงกับวัตถุดิบของชุมชนที่มีภายในท้องถิ่น สามารถดำเนินการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน และส่งเสริมอาชีพ โดยอาศัยหลักการต่อยอด เช่น อาชีพทำกรงนกของบ้านควนหัวช้าง การทำกะปิของกลุ่มแม่บ้านในตำบลนาทับ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการปล่อยสัตว์น้ำลงคลองนาทับปีละ 1 ล้านตัว การมอบทุนการศึกษา โครงการแว่นแก้ว การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ค่ายเยาวชน และสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่างๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม

การดูแลสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าจะนะ

Skip to content