รองศาสตราจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ 

อาจารย์พิเศษคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • เป็นอาจารย์และอาจารย์พิเศษให้แก่มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทย เป็นการเสียสละ ทุ่มเทถ่ายทอดความรู้ และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถให้แก่นิสิต และนักศึกษา
  • เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านแรงงาน รวมถึงวิชาการที่เกี่ยวข้องให้กับบุคลากรของหน่วยงานราชการ อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน) โรงเรียนกิจการพลเรือน โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงสหภาพแรงงานต่าง ๆ
  • เป็นผู้เขียนและเผยแพร่เอกสารทางวิชาการหรือเอกสารการวิจัยด้านแรงงานและสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นวิทยาทานให้แก่นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ อันเป็นการส่งเสริมความรู้ เพิ่มพูนทักษะกระบวนการคิดในเรื่องดังกล่าว อาทิ บทความ “วิกฤตเศรษฐกิจ ไอเอ็มเอฟ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” บทความ “วิกฤติการณ์เศรษฐกิจ ผลกระทบทางสังคม และขบวนการแรงงานในปัจจุบัน” และรายงานการวิจัย “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย”
  • เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในโครงการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและแรงงานสัมพันธ์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ เป็นผู้อำนวยการและเป็นที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาหลักสูตรปริญญาโทเศรษฐศาสตร์แรงงานและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (นานาชาติ) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เป็นผู้ริเริ่มปรับปรุงและพัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์ใน กฟผ. โดยวางหลักการให้กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างสามารถ “คิดและพูดภาษาเดียวกัน” อันเป็นการทำให้ระบบแรงงานสัมพันธ์ภายใน กฟผ. ดำเนินไปอย่างราบรื่นตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งตำแหน่งกรรมการ กฟผ. และได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการกิจการสัมพันธ์ กฟผ. ระหว่างปี ๒๕๔๔-๒๕๕๕ 
  • เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กฟผ. เมื่อครั้งที่ กฟผ. ประสบปัญหาในการทำความเข้าใจกับนักวิชาการและประชาชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนปากมูลที่บ้านหัวเห่ว ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้เสนอให้เชิญนักวิชาการจากโครงการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มาเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับผลกระทบ ข้อดี ข้อเสีย และเหตุผลในความจำเป็นในการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเข้าใจในหมู่นักวิชาการมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ยังเข้าร่วมกิจกรรมอื่นของ กฟผ. และมีส่วนร่วมในการชี้แจงกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เช่น การร่วมอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของ กฟผ. ให้กับชุมชนที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ของ กฟผ. ที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ให้แก่กรรมการบริหาร สร.กฟผ. สมัยปี ๒๕๖๐-๒๕๖๓ ทำให้ สร.กฟผ. ได้รับการยกย่องจากสหภาพแรงงานอื่นว่า เป็นสหภาพแรงงานที่มีทั้งศักดิ์ศรีและมีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและสามารถคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสมาชิกได้เป็นอย่างดี

Skip to content