Unseen EGAT by ENGY  ตอน ‘ESAN Clean Energy For The Future’ ถิ่นอีสาน แดนพลังงานสะอาด เพื่ออนาคต

10 July 2023

เพื่อนๆ ครับ ปัญหาโลกร้อนจากสภาพอากาศที่แปรปรวนนำมาสู่สภาวะโลกรวนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้วันนี้ทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนเกิดเป็นร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26)  โดยประเทศไทยได้ร่วมประกาศเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนผ่านการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018 REV.1) ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังน้ำที่กำลังจะเกิดขึ้นในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จึงมีโครงการที่น่าสนใจที่กำลังจะเกิดขึ้นหลายโครงการ วันนี้ ENGY จะพาทุกท่านไปเจาะลึกโครงการพัฒนาที่ภาคอีสานกันครับ

‘ภาคอีสาน’ มีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก ทำให้มีเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากที่สุดในประเทศ อีกยังเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแสงสูงเหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กฟผ. จึงได้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน หรือ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด กฟผ. ผลิตไฟฟ้าในรูปแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อน และพลังน้ำจากเขื่อน โดยนำร่องพัฒนาโครงการแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อปี 2564 ปัจจุบันกำลังเดินหน้าพัฒนาโครงการฯที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2566  นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาโครงการฯ ต่อที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ ขนาดกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ โดยมีแผนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2576  

นอกจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว กฟผ. ได้เล็งเห็นว่าพื้นที่ของเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ ยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เหมาะสมกับการพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ แห่งที่ 2 ของภาคอีสานถัดจากโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าโดยระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนบนผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาพักไว้อ่างเก็บน้ำตอนล่างในเวลาที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าสูง และสูบน้ำกลับขึ้นไปที่อ่างพักน้ำตอนบนในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยหรือช่วงเวลากลางคืน ก่อนจะระบายน้ำกลับลงมาอีกครั้ง จึงกลายเป็นระบบกักเก็บพลังงาน ที่เปรียบเสมือนแหล่งพลังงานสำรองขนาดใหญ่กว่า 800 เมกะวัตต์ ที่จะช่วยเติมเต็มความมั่นคงด้านพลังงานให้กับโครงข่ายระบบไฟฟ้าของประเทศมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี2578

สำหรับในภาคอีสานยังมีเขื่อนขนาดเล็กของกรมชลประทาน ที่สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรอีกหลายแห่ง กฟผ. มีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อให้การระบายน้ำมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสามารถผลิตไฟฟ้าได้จากพลังน้ำ โดยมีแผนการพัฒนาโครงการฯ ในพื้นที่ภาคอีสาน 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ขนาดกำลังผลิต 2.5 เมกะวัตต์ และเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ขนาดกำลังผลิต 1.5 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2568 เขื่อนยโสธร-พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ขนาดกำลังผลิต 4 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2571 เขื่อนชนบท จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 1.5 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2574 และเขื่อนลำสะพุง จ.ชัยภูมิ ขนาดกำลังผลิต 0.75 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2580

นอกจากนี้การพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของ กฟผ. ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัยมาพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ (Grid Modernization) เพื่อลดความผันผวนจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) และการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน Battery Energy Storage System (BESS) โดยในปัจจุบันพื้นที่ภาคอีสานได้ติดตั้ง BESS ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เพื่อเสริมให้ระบบไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมีความมั่นคงยิ่งขึ้น รองรับกับสถานการณ์พลังงานและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน เดินหน้าประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ช่วยบรรเทาโลกรวน เพื่อโลก และเพื่อพวกเราทุกคน ที่สำคัญยังช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับภาคอีสาน และเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจ รองรับตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ช่วยดึงดูดนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (Environment, Social, Governance: ESG) ผ่านการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันอีกด้วยครับ

Skip to content