โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา

ความเป็นมา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่ใหญ่และมีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี กฟผ. จึงพิจารณานำเทคโนโลยีที่ทันสมัย คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ มาสร้างโรงไฟฟ้าในภาคนี้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

โรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองฯแบบสูบกลับ สร้างอยู่ใกล้กับเขื่อนลำตะคอง ทำงานโดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองของกรมชลประทานไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยง ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยหรือช่วงกลางคืนถึงเช้า และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวันถึงค่ำ จะปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า และปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเหมือนเดิม

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ (เครื่องที่ 1-4) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเสริมระบบในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเมื่อปี พ.ศ. 2547

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับว่า “โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา” มีความหมายว่า โรงไฟฟ้าลำตะคองเป็นที่พัฒนาแสงไฟด้วยน้ำ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปเปิดโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556 นับเป็นโรงไฟฟ้าแห่งสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอันเป็นสิริมงคล

Skip to content