เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล

(จ.เชียงใหม่)

ความเป็นมา

“น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในงานเกษตรกรรม แม้แต่ดินจะไม่ดีบ้าง หรือมีอุปสรรคทางด้านอื่นๆ ถ้าแก้ปัญหาในเรื่องแหล่งน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้แล้ว เรื่องอื่นๆก็จะพลอยดีขึ้นติดตามมา”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529

          จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2516 ที่ตำบลอินทขิล และตำบลช่อแล จ.เชียงใหม่ จึงได้มีพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้มีการก่อสร้าง “เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล” เพื่ออำนวยประโยชน์ด้านการชลประทานแก่ราษฎรในพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยแก่พื้นที่เพาะปลูกท้ายอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้

          เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอเนกประสงค์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคเหนือ หนึ่งในโครงการพระราชดำริ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับกรมชลประทาน โดยกรมชลประทานรับผิดชอบในการสร้างเขื่อนและอาคารประกอบต่างๆ ส่วน กฟผ. รับผิดชอบโรงไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทานก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527

          ต่อมา กฟผ. ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในปี พ.ศ. 2526 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า “เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล” เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ปัจจุบันมีขนาดกำลังผลิตตามสัญญา 9 เมกะวัตต์

ลักษณะเขื่อน

เขื่อนดินถม
ความจุอ่างเก็บน้ำ
265 ล้านลูกบาศก์เมตร
พื้นที่อ่างเก็บน้ำ
16 ตารางกิโลเมตร
ความกว้างสันเขื่อน
9 เมตร
ความยาวสันเขื่อน
1,950 เมตร
ความสูงจากฐานราก
59 เมตร

ลักษณะโรงไฟฟ้า

อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
9 เมกะวัตต์
ผลิตพลังงานไฟฟ้า
ได้ปีละประมาณ
28.75 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

ติดต่อ

Skip to content