โรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ความเป็นมา

จากการสำรวจหาแหล่งเชื้อเพลิงในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา ปรากฏว่าพบถ่านหินลิกไนต์ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงมีพระบรมราชโองการให้สงวนแหล่งถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไว้ เพื่อใช้ในทางราชการเท่านั้น 

ปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนท์ เพื่อดำเนินกิจการเหมืองถ่านหิน มีการเปิดทำเหมืองที่แม่เมาะ เพื่อผลิตถ่านลิกไนต์จำหน่ายให้แก่โรงบ่มใบยาสูบ การรถไฟ และโรงงานปูนซีเมนต์ เมื่อรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ได้รวมเอากิจการของการลิกไนท์ (กลน.) การไฟฟ้ายันฮี (กฟย.) และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟ.อน.) รวมเป็นหน่วยงานเดียวกันคือ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 เหมืองแม่เมาะจึงอยู่ในความดูแลของ กฟผ. ตั้งแต่นั้นมา และเป็นเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ได้เริ่มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะจำนวน 3 หน่วย ขนาดหน่วยละ 75 เมกะวัตต์ พร้อมกับขยายเหมืองแม่เมาะ เพื่อเพิ่มกำลังผลิตถ่านหิน จากที่เคยผลิตได้วันละแสนกว่าตันเป็นล้านตัน จนถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้ก่อสร้างและติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าเสร็จสิ้นไปแล้ว 14 หน่วย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528

ข้อมูลเพิ่มเติม
ประวัติโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

เหมืองแม่เมาะ

เหมืองแม่เมาะเป็นเหมืองแร่ลิกไนต์ขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิต 16 ล้านตันต่อปี เพื่อส่งให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า

เหมืองแม่เมาะมีการดำเนินงานโดยคำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ ฉีดพ่นน้ำคลุมลานกองถ่านและถนนรอบบ่อเหมือง เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น พร้อมทั้งดำเนินโครงการการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้ยังดำเนินการฟื้นฟูสภาพเหมือง เพื่อรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยาและสภาพแวดล้อม อาทิ ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณที่ทิ้งดิน โดยปลูกดอกบัวตองในช่วงฤดูหนาวเพื่อเป็นจุดชมวิว เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม
ประวัติเหมืองแม่เมาะ

Skip to content