โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ

( จ. นนทบุรี )

ความเป็นมา

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ทันสมัยที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาเคียงคู่กับ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” (กฟผ.) ในสมัยที่เริ่มทำการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลหรือเขื่อนยันฮี “การไฟฟ้ายันฮี” ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลการก่อสร้างและบริหารจัดการเมื่อเขื่อนแล้วเสร็จ แต่ระหว่างที่เขื่อนภูมิพลยังไม่แล้วเสร็จ การไฟฟ้ายันฮีจึงสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนประเภทไอน้ำขึ้นมารองรับก่อนในปี พ.ศ.2502 ถือเป็นโรงไฟฟ้าโรงแรกที่การไฟฟ้ายันฮีสร้างขึ้น และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2504 โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เปรียบเสมือน “โรงครู” อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ของประเทศไทย และโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับใช้สังคมไทยมายาวนานถึง 40 ปี ในปี พ.ศ.2544 กฟผ. ได้ปลดโรงไฟฟ้านี้ออกจากระบบ และรื้อถอนเพื่อทำการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดิม

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือโรงใหม่เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสหภาพเมียนมาร์ (ฝั่งตะวันตก) และแหล่งอ่าวไทย (ฝั่งตะวันออก) เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2549 ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ.2553 และตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2547-2558 จึงได้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 ขึ้น ตามสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่สูงขึ้น โดยได้รับอนุมัติโครงการฯ จากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2555 และได้จ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2559

Skip to content