โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ

การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

คุณภาพน้ำ

น้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตที่ไม่ใช่น้ำหล่อเย็น ภายหลังการบำบัดจะถูกเก็บรวบรวมในบ่อพักน้ำทิ้งและทำการตรวจสอบคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนหมุนเวียนมาใช้ในโรงไฟฟ้า เช่น รดน้ำต้นไม้ โดยไม่มีการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับน้ำที่ระบายออกจากหอหล่อเย็น ถูกควบคุมอุณหภูมิน้ำไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิแม่น้ำเจ้าพระยา

คุณภาพอากาศ

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ได้มีการติดตั้งระบบ Dry Low NOx Burner เพื่อควบคุมไนโตรเจนออกไซด์ในช่วงที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าให้มีค่าไม่เกิน 96 ส่วน ในล้านส่วน (PPM) รวมทั้งโรงไฟฟ้าได้ติดตั้งระบบการติดตามตรวจวัดมลพิษแบบต่อเนื่อง โดยตรวจวัดสารประกอบที่ส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และรายงายผลการตรวจวัดไปยังกรมควบคุมมลพิษ หากพบว่ามีค่าเกินมาตรฐานหรือแนวโน้มเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้น ทางโรงไฟฟ้าจะดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขทันที ซึ่งผลตรวจวัดจะแสดงผลให้ชุมชนได้รับทราบบริเวณทางเข้าโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและบริเวณถนนบางกรวย-ไทรน้อย

คุณภาพเสียง

ทางโรงไฟฟ้าพระนครเหนือได้ติดตั้งเครื่องที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงดัง ได้แก่ เครื่องกังหันก๊าซ และ เครื่องกังหันไอน้ำ ไว้ในกำแพงที่สร้างด้วยวัสดุดูดซับเสียง และติดตั้งชุดลดเสียงเพื่อลดระดับเสียงไอน้ำ และยังติดป้ายสัญญาณเตือนสำหรับบริเวณที่มีเสียงดังพร้อมทั้งตรวจวัดระดับเสียงภายในพื้นที่โรงไฟฟ้าและโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

กากของเสีย

กากของเสียที่ออกมาจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ได้แก่ แผ่นไส้กรองอากาศ น้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักรที่เสื่อมสภาพ เรซินที่ใช้แล้วจากกระบวนการผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุสำหรับโรงไฟฟ้า จะถูกกำจัดโดยบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินการกำจัดกากของเสีย โดยรายงานข้อมูลการแจ้งขนส่งของเสียอันตรายออกนอกบริเวณโรงงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รับทราบ ส่วนขยะมูลฝอยจะถูกรวบรวมโดยฝ่ายบริการของสำนักงานกลาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานจัดเก็บก่อนนำไปกำจัดที่สถานที่ทิ้งมูลฝอยของเทศบาลอำเภอเมืองบางกรวย

กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จัดตั้งขึ้นตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร โดยการเก็บเงินที่ได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้ากองทุนและนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เช่น การพัฒนาอาชีพ การสนับสนุนทุนการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กีฬาและดนตรี รวมทั้งด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ความรับผิดชอบต่อสังคม

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เป็นโรงไฟฟ้าแห่งมหานคร ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีความใกล้ชิดชุมชนมากที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงมีกิจกรรมสานสัมพันธ์กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการจิตอาสาพัฒนาชุมชน โดยนำอาสาสมัครทั้งเยาวชน ชาวบ้านและพนักงาน กฟผ. ทำการพัฒนาชุมชน โดยเน้นที่โรงเรียน เช่น การทาสีสนามกีฬาและอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่น โครงการเยาวชนเรียนรู้ชุมชนเป็นการนำเยาวชนในพื้นที่ไปพบปะกับปราชญ์พื้นบ้านในชุมชนใกล้เคียง เรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิม เช่น การทำนาแบบอินทรีย์ การทำหัตถกรรมพื้นบ้านในชุมชนใกล้เคียงโรงไฟฟ้าและโครงการ เยาวชนรักษ์สายน้ำ ซึ่งสนับสนุนให้นักเรียนทำโครงการเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนา ไปสู่ความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

Skip to content