เขื่อนปากมูล

ความเป็นมา

การก่อสร้างเขื่อนปากมูลนับเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำ ทำให้ลำน้ำมูลเหนือเขื่อนมีน้ำสมบูรณ์ ช่วยอำนวยความสะดวกในการยกระดับน้ำในช่วงฤดูแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกษตรกรสามารถสูบน้ำจากลำน้ำมูลไปใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ส่วนน้ำที่เหลือจากการใช้งาน กฟผ. ได้นำมาผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า สามารถรองรับการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

แม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่รับน้ำคิดเป็นร้อยละ 23 ของพื้นที่ประเทศไทย จัดเป็นแม่น้ำที่มีปริมาณน้ำไหลมากเป็นอันดับสองรองจากแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ

ก่อนที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ภาคอีสานมีแหล่งผลิตไฟฟ้ารวมกันทั้งสิ้น 138.50 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ จำเป็นต้องรับไฟฟ้าที่ส่งมาจากภาคกลางและภาคเหนือ รวมทั้งซื้อจากการไฟฟ้าลาวเข้ามาใช้ด้วย ทำให้ระบบไฟฟ้าขาดความมั่นคง เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาไฟดับ

กฟผ. จึงวางแผนก่อสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าในภาคอีสานเป็นการเร่งด่วน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติให้ กฟผ. ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ปิดกั้นแม่น้ำมูลที่บริเวณบ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2533 แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537

Skip to content