ถาม-ตอบ (Q&A)

พลังงานหมุนเวียน

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. มีแนวทางอย่างไร

กฟผ. จะเสนอขอกระทรวงพลังงานเพิ่มสัดส่วนความรับผิดชอบของ กฟผ. ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,500-2,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น รวมเมื่อสิ้นแผน กฟผ.จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งสิ้นประมาณ 6,000 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ตามแผน เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแต่ละประเภท เป็นดังนี้


ขณะที่ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามีแผนดังนี้

**หมายเหตุ 1 : ตัวเลขของ กฟผ. นี้ยังไม่รวมการขอเพิ่มสัดส่วน 1,500-2,000 MW
**หมายเหตุ 2 : ไม่นับรวมโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา 500 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าประเภท Energy Storage

ระบบส่งไฟฟ้ามีการพัฒนาให้รองรับพลังงานหมุนเวียนหรือไม่

ปัจจุบัน กฟผ. มีแผนพัฒนาระบบส่งเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และให้สามารถรองรับโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ตามแผนโดยมีการจัดโซนนิ่งของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ประกอบกับการพัฒนาระบบส่งควบคู่กันไป ซึ่งมีการพัฒนามากในโซนภาคอีสาน
ทั้งนี้การพัฒนาระบบส่ง ต้องใช้เวลา 5 – 8 ปี ในการออกแบบ สำรวจ และก่อสร้าง ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 1-2 ปี

กฟผ. มีปัจจัยการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้ารองรับพลังงานหมุนเวียนอย่างไรบ้าง
  1. มีความมั่นคงระบบไฟฟ้า รองรับเหตุฉุกเฉินได้
  2. ต้นทุนเหมาะสม ไม่สูงเกินไป
  3. รองรับความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่ การรับซื้อไฟฟ้าจากในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนรองรับ ASEAN Power Grid
  4. เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
หากมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก จะมีผลต่อระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือไม่

เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันเป็นพลังงานที่ไม่สามารถเดินเครื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่าปัจจุบัน ราคาพลังงานหมุนเวียนจะถูกลงมามาก แต่การมีพลังงานหมุนเวียนจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะทำให้การลงทุนระบบไฟฟ้าของประเทศสูงขึ้น และค่าไฟฟ้าโดยรวมจะแพง จึงต้องมีการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมของพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างสมดุลทางพลังงานที่พึ่งพาพลังงานหลักควบคู่ไปกับการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคง เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย และมีราคาไม่แพง

สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า

PM 2.5 คืออะไร?

PM 2.5 คือ ฝุ่นละเอียด (Fine Particulate Matter) ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ลอยอยู่ทั่วไปในอากาศ มีแหล่งกำเนิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องจักรที่ใช้สำหรับการก่อสร้าง การเผาเชื้อเพลิง ควันจากการเผาป่าหรือวัชพืช หรือเกิดจากกิจวัตรประจำวันต่างๆ เช่น การประกอบอาหาร การสูบบุหรี่ หรือการจุดเทียน เป็นต้น โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอากาศในบางฤดูกาล ได้แก่ การเผาป่า โรงงานอุตสาหกรรม และการคมนาคม ซึ่งก่อให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจใด้ ทำให้ในปี 2553 กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดมาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไป ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นในเวลา 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

โรงไฟฟ้ามีการควบคุม PM 2.5 อย่างไร?

ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่มี่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหิน มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยติดตั้งอุปกรณ์ดักจับอนุภาคต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่

  1. เครื่องดักฝุ่น (Electrostatic Precipitator : ESP) มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นได้ร้อยละ 99.8 – 99.9 สามารถดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้มากกว่าร้อยละ 96 – 98
  2. เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulfurization : FGD)
  3. เครื่องกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (Selective Catalytic Reduction : SCR)

ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตไฟฟ้าสามารถควบคุมคุณภาพอากาศได้ตั้งแต่ต้นทาง

ที่มาของฝุ่นละเอียดหรือ PM2.5 ในประเทศไทย

ฝุ่นละเอียด เป็นอีกสาเหตุของปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ เราจึงควรตระหนักและตื่นตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นละเอียดขนาด 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ซึ่งเล็กกว่าเส้นผมที่มีขนาด 60 ไมครอน ถึง 24 เท่า สามารถเข้าสู่ระบบหายใจได้มากกว่าฝุ่นขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การที่องค์กรเอกชนบางแห่งนำมาเป็นประเด็นรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและแต่งเติมสีสัน จนอาจทำให้คนไทยละเลยสาเหตุที่แท้จริง และมองข้ามการป้องกันอันตรายที่อยู่รอบตัว เพราะความจริงนั้น ฝุ่นละเอียดส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้จากกระบวนการเผาไหม้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า การเผาไร่นาทำการเกษตร ควันเสียรถยนต์ หรือแม้แต่กระทั่งการใช้ฟืนทำกับข้าวในครัวเรือน ก็ทำให้เกิดฝุ่นละเอียดลอยปะปนอยู่ในอากาศแล้ว โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดเกณฑ์แนะนำฝุ่นละเอียดที่ปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือมีความเข้มข้นเพียง 25 ส่วนในล้านส่วนของน้ำหนัก 1 กรัม ต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

แม้การปล่อยมลสารจะไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่การสะสมในร่างกายก็มีผลต่อสุขภาพ จริงหรือไม่?

การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโรงไฟฟ้าเทพา ได้มีการศึกษาผลกระทบเนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM 2.5 และ PM10) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โลหะหนัก(ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม และปรอท) ครบถ้วนทั้งในสภาพปัจจุบันและศึกษาเปรียบเทียบการสะสมในสิ่งแวดล้อมและในห่วงโซ่อาหารตลอดอายุของโรงไฟฟ้า 30 ปี ซึ่งพบว่ามลสารทุกชนิดดังกล่าวรวมถึงโลหะหนักอื่นๆ มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

ค่า FT

ค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปร

กำหนดเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ต้นทุนการซื้อ ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฟ้าฐาน และผลกระทบจากนโยบายของรัฐในเรื่องต่างๆ เช่น การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนด้วยการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หรือมาตรการ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งค่า Ft จะมีการปรับทุก 4 เดือน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำกับดูแลการคำนวณให้สะท้อนราคาค่าเชื้อเพลิง ตามแนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐในเรื่องการส่งเสริมพลังงาน หมุนเวียนต่างๆ

ค่า Ft เพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของราคาก๊าซธรรมชาติ และปริมาณที่ใช้ผลิตไฟฟ้า

ค่าเอฟทีปรับลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดตามราคาน้ำมันเป็นหลัก เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติภายในประเทศผูกกับราคาน้ำมันในตลาดโลกประมาณ ร้อยละ 30-40 โดยราคาก๊าซธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงตามหลังราคาน้ำมันประมาณ 6 – 18 เดือน

Skip to content