Safety Awareness for Everyone งานบำรุงรักษาโยธา กฟผ. ผสานความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยี พร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าอย่างครบวงจร

13 September 2021

         หลายทศวรรษแห่งการสั่งสมความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการบำรุงรักษา จนพัฒนาให้ กฟผ. พร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าอย่างครบวงจร และหนึ่งในบริการที่สำคัญคืองานบำรุงรักษาโยธา ที่ไม่เพียงแต่ดูแลเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของโครงสร้าง แต่ยังหมายรวมถึงการดูแลความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของทุกคนอีกด้วย

         การบำรุงรักษาโครงสร้างและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขื่อนที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ยิ่งจำเป็นต้องใช้ความสามารถ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เราจะมาพูดคุยกับ คุณวัลลภ เมฆพฤกษาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงบทบาทและภารกิจที่สำคัญนี้

บทบาท และภารกิจของฝ่ายบำรุงรักษาโยธา กฟผ.

         “โดยเริ่มแรก ฝ่ายบำรุงรักษาโยธา ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับภารกิจในการดูแลความปลอดภัยเขื่อนโดยเฉพาะ ทำให้เรามีองค์ความรู้และประสบการณ์สั่งสมมาจนกลายเป็นจุดแข็งของฝ่ายบำรุงรักษาโยธา คำว่า “เขื่อน” นอกจากจะหมายถึง สันเขื่อนที่เราเห็นแล้ว ยังมีส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อาคารโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อ่างเก็บน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ ฯลฯ ซึ่งเราไม่ได้พิจารณาเฉพาะด้านความมั่นคงแข็งแรงทางวิศวกรรมโครงสร้างเท่านั้น หากต้องพิจารณาในมิติที่ตอบวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์เขื่อนในด้านอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมีความสำคัญและส่งผลต่อการสร้างความเจริญให้ประเทศไม่แพ้การผลิตพลังงาน เช่น การเกษตร การประปา และ การอุตสาหกรรม เป็นต้น

         หากได้มีโอกาสติดตามข่าวในช่วงที่ผ่านมา ในสังคมมีการพูดถึงประเด็นข้อสังเกตและข้อกังวลเกี่ยวกับเขื่อนศรีนครินทร์ หรือเขื่อนวชิราลงกรณ ที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันตก ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้น โครงสร้างเขื่อนจะได้รับความเสียหายหรือไม่ และมวลน้ำขนาดใหญ่ที่กักเก็บไว้ในเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า มีโอกาสจะสร้างความเสียหายแก่ชุมชนท้ายน้ำมากน้อยเพียงใด ฯลฯ คำถามต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจของเรา

         ปัจจุบัน นอกจากงานด้านความปลอดภัยเขื่อน เรายังเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการดูแลรักษาโครงสร้างอาคารของโรงไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า รวมถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในกระบวนการผลิต และบริหารจัดการไฟฟ้าของ กฟผ. และโรงไฟฟ้าเอกชน เช่น โครงสร้างฐานรองรับอุปกรณ์ อาคารหอหล่อเย็น ท่าเทียบเรือขนถ่ายน้ำมัน ท่อลำเลียงเชื้อเพลิง ถนนภายในบริเวณโรงไฟฟ้า ฯลฯ ให้มีความมั่นคงแข็งแรง รองรับการใช้งานได้อย่างปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม

         เพราะฉะนั้น ภารกิจของฝ่ายบำรุงรักษาโยธาจึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายศาสตร์รวมกัน เพื่อที่จะสามารถดูแลโครงสร้างของระบบผลิตกระแสไฟฟ้าได้ครบทุกด้าน เราจึงมีวิศวกรที่มีความรู้ทางด้านโยธาเฉพาะทาง เช่น ด้านวิศวกรรมโครงสร้าง เพื่อวิเคราะห์และประเมินสภาพอาคาร วิศวกรรมปฐพี เพื่อที่จะประเมินสภาพเนื้อเขื่อน รวมถึงเสถียรภาพของฐานราก วิศวกรรมชลศาสตร์ เพื่อประเมินการไหลของน้ำจากการระบายน้ำ เป็นต้น จึงเรียกได้ว่าเราเป็นหน่วยงานบริการด้านการบำรุงรักษาโยธาที่ครบวงจรเลยก็ว่าได้”

เทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญ

         “อย่างที่ได้กล่าวไว้ เราค่อนข้างมีความเชี่ยวชาญในงานด้านความปลอดภัยเขื่อน เทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นร่วมกับ NECTEC เพื่อเสริมสมรรถนะในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว คือ “Dam Safety Remote Monitoring System (DS-RMS) หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ระบบตรวจสุขภาพเขื่อน’ โดยระบบดังกล่าวจะตรวจจับปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นคงของเขื่อน 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. ตำแหน่งการเกิดแผ่นดินไหว และการตอบสนองของโครงสร้างเขื่อนอันเนื่องมาจากแรงแผ่นดินไหว 2. ปริมาณฝนตกเหนือพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ณ ตำแหน่งต่าง ๆ และ 3. พฤติกรรมของโครงสร้างเขื่อน เช่น การทรุดตัวเคลื่อนตัว แรงดันน้ำในเขื่อน เป็นต้น โดยการตรวจจับดังกล่าวจะถูกกระทำในรูปแบบ Real Time ทั้งหมด และข้อมูลจะถูกนำไปประมวลผลภายใต้อัลกอริทึม (Algorithm) ที่เกิดจากการถอดองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ ออกมาเป็นผลลัพธ์ให้เราทราบว่าเขื่อนอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยหรือไม่แสดงผลใน Application มือถือที่เผยแพร่ให้สาธารณะชนรวมถึงผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปติดตามได้ หากเปรียบกับร่างกายของคนเรา ปัจจัยข้อ 1 และ ข้อ 2 คือปัจจัยที่เป็นเหตุ (Independent) เช่น เรื่องความสมบุกสมบันในการใช้ชีวิต อาหารการกิน ฯลฯ ในขณะที่ปัจจัยข้อ 3 คือปัจจัยที่เป็นผล (Dependent) เช่น ผลตรวจเลือด และข้อมูลดังกล่าวจะถูกวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและรายงานผลตลอดเวลา

         ในส่วนของภารกิจบำรุงรักษาโยธาด้านอื่น ๆ เราส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงาน บางอย่างมีผลลัพธ์ที่ดีและมีศักยภาพในการต่อยอดได้ เช่น การนำอากาศยานไร้คนขับ (UAV) มาประยุกต์ใช้ในการสำรวจและตรวจสอบรอยร้าวบนพื้นผิวคอนกรีต ฯลฯ บางอย่างอยู่ระหว่างพัฒนา เช่น การควบคุมงานผ่านระบบ CCTV , การนำเทคโนโลยี LiDAR มาประยุกต์ใช้ในการสำรวจและประมาณราคางาน เป็นต้น โดยเราคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในงานบำรุงรักษาโยธาในอนาคต”

พร้อมมุ่งไปสู่งานบริการระดับศูนย์กลางของภูมิภาค

         “ในเรื่องของงานบริการ เรามีฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ลูกค้าต่างประเทศที่เราได้ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง คือ กลุ่มเขื่อนใน สปป.ลาว นอกจากการให้บริการบำรุงรักษาโยธาโดยตรงแล้ว เรายังมีการถ่ายทอดแบ่งปันองค์ความรู้ที่มี ให้กับเจ้าหน้าที่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าของ สปป.ลาว เพื่อให้มีความเข้าใจและได้รับรู้ถึงประเด็นสำคัญในภารกิจการบำรุงรักษาโยธาเบื้องต้น ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนของการขยายบริการไปในต่างประเทศในอนาคต เราดำเนินการตามนโยบายของ กฟผ. โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ.

         ในส่วนของการจัดการภายใน ทางฝ่ายบำรุงรักษาโยธาได้เริ่มจัดตั้ง ‘ศูนย์ที่ปรึกษาโยธา’ ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการทำงานแบบ Cross Functional ควบคู่กับการเป็น Contact Point กับลูกค้า ทั้งนี้ เราวางแผนไว้ว่าในปี 2567 เราจะสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้คำปรึกษาเรื่องบำรุงรักษาโยธา (Civil Solution Provider) เมื่อคุณมีปัญหาด้านงานบำรุงรักษาโยธา คุณสามารถปรึกษาเราได้ และต่อไปปี 2573 เราจะสามารถต่อยอดธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งของ EGAT Regional O&M Hub เนื่องจากเรามีความพร้อมในด้านคุณภาพบุคลากร เรามีการส่งคนเข้าไปอบรมดูงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้บุคลากรได้พัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น การประชุมที่องค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างชาติ งานวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ปัจจุบัน มีหลายงานที่เราสามารถส่งมอบผลงานในมาตรฐานเทียบเท่าสากล จากทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้เราค่อนข้างมั่นใจและเชื่อมั่นว่าเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างแน่นอน”

ผลตอบรับที่ดียิ่งจากลูกค้า

         “ถ้าถามถึงการตอบรับจากลูกค้า สำหรับงานบำรุงรักษาโยธาในช่วงแรกกว่าจะได้งานหนึ่งงานจะค่อนข้างยาก แต่เราเชื่อมั่นว่าเมื่อเราพัฒนาไปถึงจุดที่เราเชี่ยวชาญเป็นพิเศษแล้ว ลูกค้าจะเลือกใช้เราอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพูดถึงการตอบรับจากลูกค้า ล่าสุดนั้นทางฝ่ายบำรุงรักษาโยธา กฟผ. ได้เข้าไปให้บริการแก่ลูกค้าใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการประเมินว่าเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรงเท่าไหร่ เรื่องที่ 2 คือ การจัดทำแผนอพยพในสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับกรณีที่เขื่อนในโรงไฟฟ้าเกิดความเสียหาย ซึ่งเมื่อลูกค้าเลือกใช้เราแล้ว สามารถนำข้อมูลไปยืนยันกับหน่วยงานที่กำกับดูแลได้ว่า ลูกค้าไม่ได้ละเลยในเรื่องของความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของโรงไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน ลูกค้าจะมีข้อมูลในการประเมินได้ว่า หากเขื่อนเกิดการพิบัติ น้ำในเขื่อนจะเดินทางจากเขื่อนมายังที่ตั้งโรงไฟฟ้าหรือชุมชนท้ายน้ำในระยะเวลากี่ชั่วโมง พอมาถึงแล้วน้ำจะยกตัวขึ้นไปสูงที่ระดับเท่าไหร่ เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่โรงไฟฟ้าหรือชุมชนท้ายน้ำหรือไม่ เกิดผลกระทบความเสียหายที่คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแค่ไหน เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้ลูกค้าสามารถนำไปบริหารจัดการความเสี่ยงและประกอบการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี”

รับมือกับทุกความท้าทายด้วยความเป็นมืออาชีพ

         “หนึ่งในความท้าทายของงานโยธา คือ การรับรู้ของลูกค้า (Customer Perception) ว่าหากไม่มีปัจจัยใดมาบังคับ คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยนึกถึงความสำคัญในการซ่อมบำรุง เนื่องจากความเสียหายอันเนื่องมาจากการชำรุดทรุดโทรมของชิ้นงานด้านโยธาส่วนใหญ่มักจะใช้เวลานาน หรืออาจกล่าวได้ว่าจับต้องได้ยาก ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน จับต้องได้ง่ายกว่า ทางเราต้องสื่อสารกับทางผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า รวมแม้กระทั่งหน่วยงานภายใน กฟผ. ให้รับรู้ว่าถึงแม้ชิ้นงานด้านโยธา จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่หากเกิดความเสียหายขึ้น มักจะเกิดผลกระทบอย่างมาก อยากให้มองว่าการบำรุงรักษาเชิงป้องกันจะใช้ต้นทุนที่ถูกกว่าการบำรุงรักษาเชิงแก้ไข

         สำหรับความท้าทายในเชิงรุกที่เป็นโอกาส เรามองว่าแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ผู้ประกอบการมักจะเลือกทำในสิ่งที่ตนมีความเชี่ยวชาญ (Core Competency) และแบ่งงานที่ตนไม่ได้มีความเชี่ยวชาญให้คนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะดำเนินการแทนในรูปแบบพันธมิตรหรือคู่ความร่วมมือทางธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน เช่นเดียวกัน ในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศ มักจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านเครื่องกล หรือไฟฟ้า หากสร้างทีมงานด้านโยธาเอง จะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น การจ้างหน่วยงานบำรุงรักษาของ กฟผ. จะมีความคุ้มค่ากว่าเพราะฝ่ายบำรุงรักษาโยธาของ กฟผ. มีองค์ความรู้ที่สั่งสมจากประสบการณ์จริงที่ได้มาจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงโครงการขนาดใหญ่ใน สปป.ลาว หากเราสามารถจัดการองค์ความรู้ที่สะสมไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถ่ายทอดไปยังภาคเอกชนได้ตรงประเด็น ทันท่วงที ก็จะสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการหรือถ้ามองในภาพที่ใหญ่ขึ้น จะสามารถยกระดับการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในเวทีระดับโลกได้

         ในส่วนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ต้องยอมรับเลยว่ามีผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงมาก เพราะงานบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ยังคงมีความจำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อเข้าไปดูต้นเหตุ ตรวจสอบและประเมินสภาพ และเตรียมความพร้อมในการปรับแก้ไขเพื่อให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความโชคดีที่เรามีบุคลากรที่มีความพร้อมในการปรับตัว มีการนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาปรับใช้ในการทำงาน จึงทำให้เรายังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอด เช่น ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น เราจะมีการประสานงานให้ส่วนหน้างานส่งรูปภาพมาให้เราเห็นสภาพหน้างานว่าเป็นอย่างไร จากนั้นนำมาพิจารณาร่วมกับฐานข้อมูลออนไลน์ที่เราพัฒนาขึ้น เมื่อประเมินแล้วพบว่าต้องแก้ตรงไหน ก็บอกให้เขาไปตรงส่วนนั้นวิธีการดังกล่าวถึงแม้ว่าจะยังมีข้อจำกัด ถ้าเป็นปัญหาเล็กก็สามารถรักษาหายขาดได้เลย ถ้าเป็นปัญหาใหญ่ก็อาจรักษาได้เพียงให้บรรเทาลง แต่ต้องเพียงพอต่อความมั่นคงปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร”

         ภารกิจด้านการบำรุงรักษาโยธา นอกจากจะทำให้โรงไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องผ่านการตรวจสอบด้วยความเชี่ยวชาญ จากทีมงานที่มีประสบการณ์ และอุปกรณ์ที่มีคุณภาพแล้ว เรายังสามารถทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าโครงสร้างของโรงไฟฟ้าจะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ มั่นคง แข็งแรง และมีความปลอดภัยทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน สมกับที่ได้ไว้วางใจให้ กฟผ. ดูแล

ที่มา : EGAT BIZNEWS Vol.9 Issue4

Skip to content