เขื่อนสิริกิติ์

การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

เขื่อนสิริกิติ์ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทานในพื้นที่สองฝั่งลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้า ช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ตลอดจนดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ

ภารกิจสำคัญที่เขื่อนสิริกิติ์มุ่งมั่นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนอกเหนือจากการผลิตไฟฟ้า คือ การสร้างความสมดุลระหว่างสังคม สิ่งแวดล้อม และองค์การ ให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างมั่นคง ซึ่งนำมาสู่การดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุน แบ่งปัน ช่วยเหลือสังคม ทั้งในด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรรอบเขื่อน อาทิ

  • โครงการติวเข้มเติมเต็มโอกาส เพื่อเพิ่มศักยภาพของนักเรียนในการสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
  • โครงการดูแลผู้สูงวัย ใส่ใจผู้เสียสละ เพื่อดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของผู้อพยพจากการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์
  • โครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำ โครงการปลูกต้นไม้ในใจเด็ก โครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาป่าต้นน้ำน่าน เป็นต้น เพราะเป้าหมายที่คาดหวัง คือ การได้เห็นคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่ดีขึ้น สังคมที่ดีขึ้น และรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
  • จัดตั้งศูนย์เรียนรู้โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนดินช่องเขาขาด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  • ศูนย์การเรียนรู้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโดยจัดเป็นแหล่งรวบรวมตัวอย่างพันธุ์พืชหายาก พืชสมุนไพรท้องถิ่นไว้ศึกษาและอนุรักษ์ให้คงอยู่
  • โครงการสร้างความอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่ผืนป่า ดิน และน้ำ ภายใต้การส่งเสริมการปลูกป่า และการสร้างฝายชะลอน้ำ
  • โครงการเพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่นคืนสู่ลำน้ำน่าน ทั้งด้านเหนือน้ำและท้ายอ่างเก็บน้ำ เขื่อนสิริกิติ์
  • จัดกิจกรรมเสวนาผู้ใช้น้ำ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ลุ่มน้ำน่าน เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำน่านให้เกิดความร่วมมือกันพัฒนาลุ่มน้ำน่านแบบบูรณาการ โดยการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกข้อมูลสถานการณ์น้ำ ให้เกิดความเข้าใจด้านการบริหารจัดการน้ำ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันของผู้ใช้น้ำ

การจัดการด้านภัยแล้ง
เขื่อนสิริกิติ์ได้บรรเทาปัญหาภัยแล้ง ให้กับชุมชนรอบเขื่อนในปี พ.ศ. 2563 ดังนี้

  • ระบายน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • จัดรถบรรทุกน้ำดื่ม น้ำอุปโภค-บริโภค
  • สูบน้ำปล่อยลงคลองสิงห์ และสูบลงท่อพระราชดำริ
  • สร้างฝายชะลอน้ำแบบชั่วคราว 11 ฝาย
  • จัดทำแนวป้องกันไฟป่า 69 ครั้ง และเข้าดับไฟป่า 34 ครั้ง

ด้านการชลประทาน

น้ำจากอ่างเก็บน้ำจะถูกปล่อยออกไปยังพื้นที่เพาะปลูกในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่านกับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งในปริมาณที่ได้มีการตกลงร่วมกันไว้กับกรมชลประทาน

ด้านการบรรเทาอุทกภัย

อ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บกักน้ำที่อาจจะไหลบ่าลงมา ช่วยลดการเกิดอุทกภัยในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร

ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า

น้ำที่ปล่อยออกไปเพื่อการชลประทาน ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ด้านการประมง

กฟผ. ได้นำพันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิดปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ ช่วยเสริมรายได้ให้กับราษฎรบริเวณนั้น

ด้านการคมนาคมทางน้ำ

ช่วยให้การคมนาคมทางน้ำบริเวณเหนือเขื่อนไปยังจังหวัดน่านสะดวกและใช้งานได้ตลอดปี

Skip to content