โรงไฟฟ้าพระนครใต้

ความเป็นมา

ในปี พ.ศ. 2509 แหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีเพียง 2 แห่งคือ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตาม ความเจริญเติบโตของบ้านเมือง กฟผ. จึงวางแผนการขยายแหล่งผลิตไฟฟ้าทั้งระบบพลังน้ำและพลังงานความร้อนเพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบไฟฟ้า โดยใช้ชื่อแผนการนี้ว่าโครงการ 5 ปี

โครงการ 5 ปี เป็นแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า ในช่วง พ.ศ. 2510 – 2514 มีจุดประสงค์เพื่อขยายแหล่งผลิตไฟฟ้าโดยใช้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนเป็นแหล่งผลิตหลักและ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นแหล่งผลิตเสริมในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง วิธีนี้ช่วยให้มีต้นทุนการผลิตต่ำและมีความมั่นคงในระบบไฟฟ้าสูงสุด

โรงไฟฟ้าพระนครใต้ได้รับการบรรจุไว้ในโครงการ 5 ปี ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 และได้เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2510 นั้น โดย กฟผ. ทำการปรับปรุงที่ดินซึ่งเดิมเป็นท้องร่องสวนแล้วจึงตัดถนนต่อไปถึงหัวงานเป็นระยะ 2.5 กิโลเมตร จากนั้นได้สร้างสะพานเขื่อนริมน้ำท่าเรือและติดตั้งปั้นจั่นสำหรับงานก่อสร้างฐานรากของอาคาร โรงไฟฟ้าเครื่องที่ 1 และ 2 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา ต่อมาจึงเริ่มงานก่อสร้างส่วนประกอบอื่นๆ เช่น อาคารชักน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ โรงเก็บพัสดุอาคารสถานีไฟฟ้าแรงสูง และติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า อาทิ หม้อน้ำอุปกรณ์ สถานีไฟฟ้าแรงสูงและแผงไฟฟ้าตัดตอนต่างๆ เป็นต้น จนกระทั่งการก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515

Skip to content