เขื่อนศรีนครินทร์

การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ด้านเศรษฐกิจ
เขื่อนศรีนครินทร์ สนองพระราชดำริในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมมาอย่างยาวนาน และอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างธรรมชาติและการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยมุ่งเน้นการนำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้แทนสารเคมี ในการดำเนินงาน 4 กิจกรรม ได้แก่ การเกษตร การประมง การปศุสัตว์ และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ราษฎร รอบๆโรงไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และลดค่าใช้จ่ายส่งผลให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง

ด้านสังคม
วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันครบรอบรัฐพิธีเปิดเขื่อนศรีนครินทร์ มีการสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนโรงเรียนศรีสวัสดิ์พิทยาคม ระดับอุดมศึกษาที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมสนับสนุนกีฬาหมากรุกไทยร่วมกับสมาคมหมากรุกสากลแห่งประเทศไทย และชมรมหมากรุกไทยตักกะศิลาดินแดง ให้กับโรงเรียนรอบโรงไฟฟ้า

ด้านสิ่งแวดล้อม
กฟผ. ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร และป่าชุมชน กิจกรรมปลุกจิตสำนึกให้ความรู้ สร้างความเข้าใจตามศาสตร์พระราชา ว่าด้วยการสร้างฝาย ปลูกป่า ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า พร้อมกับสร้างจิตอาสาในการเข้าพื้นที่ดับไฟป่าร่วมกับชุมชน โดยเขื่อนศรีนครินทร์มีทีมงานเหยี่ยวไฟในการเข้าพื้นที่กรณีเกิดไฟป่า โดยทำงานร่วมกับชุดปฏิบัติการดับไฟป่า

การจัดการด้านภัยแล้ง
เขื่อนศรีนครินทร์ได้ช่วยเหลือชุมชน และหน่วยงานที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยการบริจาคน้ำดื่ม-น้ำใช้ ในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 174,000 ลิตร

กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า
เขื่อนศรีนครินทร์ ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ในรัศมี 5 กิโลเมตร โดยการเก็บเงินที่ได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเข้ากองทุน และนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เช่น การพัฒนาอาชีพ การสนับสนุนด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กีฬาและดนตรี รวมทั้งด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โครงการปลูกต้นกล้าป่าต้นน้ำถวายพ่อ
โครงการปลูกต้นกล้าป่าต้นน้ำถวายพ่อ ได้เริ่มต้นโครงการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่รอบเขื่อนไปแล้วกว่า 100,000 ต้น และเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จึงได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในพื้นที่ จัดทำโครงการ “1,120 ฝาย ถวายสมเด็จย่า” เพื่อเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ

การส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนรอบเขื่อนศรีนครินทร์
ทีมงานจิตอาสาจากเขื่อนศรีนครินทร์ ได้ร่วมกันถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชน ให้สามารถประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยใช้เกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษและยังทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ได้แก่ โครงการการทำบัญชีครัวเรือนของบ้านพุน้ำเปรี้ยว ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ที่สามารถทำให้แต่ละครัวเรือนมีเงินออมมากขึ้น

Skip to content