เขื่อนอุบลรัตน์

(จ.ขอนแก่น)

ความเป็นมา

จากแนวความคิดที่พัฒนาประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งเอเชียและตะวันออกไกล หรือแอสแคป (ESCAP) จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานสำรวจลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และได้แนะนำให้รัฐบาลไทยสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าการชลประทาน การอุปโภค-บริโภคอุตสาหกรรม บรรเทาอุทกภัย การประมง และการท่องเที่ยว

          เขื่อนอุบลรัตน์ ชื่อเดิมว่า เขื่อนพองหนีบ เป็นโครงการเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของไทย และเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือคนแรก เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2509 โดยมีลำน้ำหลักรับน้ำลงสู่อ่างเก็บน้ำ 3 ลำ น้ำคือ ลำน้ำพอง ลำน้ำเชิญ มีต้นน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ และลำพะเนียง มีต้นน้ำจากเทือกเขาภูพาน จ.หนองบัวลำภู

          ด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 8.40 เมกะวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 56.10 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลสำหรับใช้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนได้ปีละ ประมาณ 15.42 ล้านลิตร

          ด้านการเกษตรกรรมสำหรับพื้นที่ชลประทานโดยส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในเขต อ.เมือง อ.น้ำพอง อ.กระนวน จ.ขอนแก่น และ พื้นที่เพาะปลูกเขต อ.เชียงยืน อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม  สามารถทำการเพาะปลูกในฤดูฝน ประมาณ 264,000 ไร่ และในฤดูแล้ง ประมาณ 170,000 ไร่

          ด้านการรักษาสภาพแวดล้อมด้านท้ายน้ำ ในลำน้ำพอง ให้มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ดีใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค

          ด้านการเพาะปลูกและใช้น้ำรอบอ่างเก็บน้ำด้านเหนือน้ำโดยสถานีสูบน้ำ 53 สถานี พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการส่งน้ำทั้งหมดประมาณ 124,000 ไร่ เพื่อบรรเทาอุทกภัยทั้งทางด้านเหนือน้ำ และท้ายน้ำ ในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อการประมงโดยส่งเสริมการขยายพันธุ์ปลาปล่อยพันธุ์ปลา และทำการประมงในอ่างเก็บน้ำ โดยปริมาณปลาที่จับได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 1 ล้านกิโลกรัม ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลา ถือเป็นสินค้าขึ้นชื่อของอำเภออุบลรัตน์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ของประชาชนส่งเสริมรายได้ให้ท้องถิ่น

          ต่อมา กฟผ. ได้ทำการปรับปรุงเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อเสริมความปลอดภัยให้กับเขื่อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรเทาอุทกภัยโดยทำการเสริมสันเขื่อนให้อยู่ที่ระดับ 188.10 เมตร และขยายเขื่อนด้านท้ายออกไปจากเดิมเป็น 125 เมตร งานปรับปรุงได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2527 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2530

          พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดําเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509

ลักษณะเขื่อน

เขื่อนหินถม
แกนดินเหนียว
ความจุอ่างเก็บน้ำ
2,431 ล้านลูกบาศก์เมตร
พื้นที่อ่างเก็บน้ำ
388 ตารางกิโลเมตร
ความกว้างสันเขื่อน
6 เมตร
ความยาวสันเขื่อน
885 เมตร
ความสูงจากฐานราก
32 เมตร
เขื่อนแห่งแรกของ กฟผ. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ลักษณะโรงไฟฟ้า

อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
25.20 เมกะวัตต์
ผลิตพลังงานไฟฟ้า
ได้ปีละประมาณ
56.10 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

ติดต่อ

Skip to content