เขื่อนวชิราลงกรณ

การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

เขื่อนวชิราลงกรณ ได้ช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 1,860 ครัวเรือน ในท้องที่อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี อพยพไปอยู่ในที่จัดสรรแห่งใหม่ โดยจัดสรรที่ดินพร้อมที่ทำกิน จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สิน รวมทั้งก่อสร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบครัน

นอกจากนี้ กฟผ. ได้มอบเงินจำนวน 18 ล้านบาท จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรขึ้น 5 แห่งในหมู่บ้านอพยพ จ่ายเงินช่วยเหลือราษฎร ในการดำรงชีพในระยะแรก แนะนำการส่งเสริมเกษตรแผนใหม่ เช่น การปลูกพืชเมืองหนาว และยางพารา เป็นต้น รวมทั้งแนะนำให้รู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและการใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรได้ถาวรตลอดไป

เขื่อนวชิราลงกรณ เป็นเขื่อนเอนกประสงค์ เป็นโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งทางตรง และทางอ้อม

ด้านการอุปโภคบริโภค

เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค-ประปา ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล

ช่วยผลักดันน้ำเค็มและไล่น้ำเสีย

ช่วยผลักดันน้ำเค็มและไล่น้ำเสีย บริเวณปากแม่น้ำกลองจะมีน้ำเค็มไหลย้อนเข้ามาในช่วงฤดูแล้ง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรจากสภาพดินเค็ม รวมทั้งมีน้ำเสียจากโรงงาน บริเวณสองฝั่งแม่น้ำ ดังนั้นการระบายน้ำจากเขื่อนในฤดูแล้ง เขื่อนจะปล่อยน้ำไปมากกว่าปกติ เพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็ม ขับไล่น้ำเสียจากโรงงานและช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ

ด้านการชลประทาน

ด้านการชลประทาน และการเกษตร เขื่อนวชิราลงกรณมีบทบาทความสำคัญในโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำแม่กลอง โดยมีการผันน้ำผ่านพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ทำให้มีแหล่งน้ำถาวรเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เพื่อช่วยเสริมระบบชลทานของโครงการแม่กลองใหญ่ โดยเฉพาะการเพาะปลูกในฤดูแล้ง จะได้ผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้น

ด้านการประมง

ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนมีพื้นที่ 388 ตารางกิโลเมตรเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่สำคัญ ทำรายได้ให้กับราษฎรที่อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำ

ด้านการบรรเทาอุทกภัย

โดยปกติในฤดูทั้งในลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่จะมีปริมาณมาก ประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในลุ่มน้ำแม่กลองเป็นประจำ เมื่อก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ เสร็จอ่างเก็บน้ำของเขื่อนทั้งสองจะช่วยเก็บกักน้ำไว้เป็นการบรรเทาอุทกภัย ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างถาวร

ด้านการคมนาคมและการท่องเที่ยว

เมื่อมีอ่างเก็บน้ำเกิดขึ้น ชุมชนต่างๆ ก็ได้อาศัยเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เพื่อนำผลผลิตออกสู่ตลาด เป็นการช่วยกระจายรายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้บริเวณนั้น ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกไทรโยค บึงเกริงกะเวีย ด่านเจดีย์สามองค์ เป็นต้น

ด้านการผลิตไฟฟ้า

น้ำที่ปล่อยเพื่อการอุปโภคบริโภค ผลักดันน้ำเค็ม ไล่น้ำเสีย และการเกษตรแล้วยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ โดยปล่อยผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ 300,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้า เฉลี่ยปีละประมาณ 777 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

ข้อมูลเพิ่มเติม

http://www.vrk.egat.com/index.php/about-us/2014-07-08-02-24-05

Skip to content