โรงไฟฟ้าวังน้อย

การจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้าวังน้อย ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสมอมา มีการควบคุมมลพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวด ทำให้มลสารทั้งหมดที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้ามีค่าอยู่ในมาตรฐานกำหนดตลอดมา โดยโรงไฟฟ้ามีระบบการควบคุมมลสารดังนี้ คือ

คุณภาพอากาศ

มีการติดตั้งระบบฉีดไอน้ำหรือน้ำ (Steam or Water injection) ที่เครื่องกังหันก๊าซของโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ส่วนโรงไฟฟ้า ชุดที่ 3 และชุดที่ 4 ติดตั้งระบบเผาไหม้แบบ Dry low NOx burner เพื่อลดอุณหภูมิในห้องเผาไหม้ ลดอัตราการระบายก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และมีการติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring System; CEMs) ที่ปล่องของโรงไฟฟ้าทุกปล่อง

คุณภาพน้ำ

โรงไฟฟ้าวังน้อยมีระบบบำบัดน้ำเสียด้วยจุลินทรีย์เพื่อบำบัดน้ำเสียจากอาคาร มีบ่อสะเทินทางเคมี (Neutralization pit) เพื่อบำบัดน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิต มีบ่อดักไขมัน (Oil separator) เพื่อบำบัดน้ำทิ้งที่มีน้ำมันปนเปื้อน จากนั้นน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้งหมดรวมถึงน้ำจากหอหล่อเย็นจะไหลไปรวมกันที่บ่อพักน้ำทิ้ง (Holding pond) เพื่อกักน้ำไว้ให้ตกตะกอนก่อน แล้วไหลล้นไปที่บ่อหน่วงน้ำ (Retention pond) เพื่อลดปริมาณสารแขวนลอย สารละลาย และความนำไฟฟ้า ก่อนปล่อยลงสู่คลอง 26 และมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งต่อเนื่อง ได้แก่ ความเป็นกรดและด่าง อุณหภูมิ ความนำไฟฟ้า และออกซิเจนละลาย บริเวณอาคารตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งก่อนระบายลงคลอง 26

การจัดการของเสีย

ขยะมูลฝอยจากสำนักงานโรงไฟฟ้าจะว่าจ้างบริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการเป็นผู้ขนย้ายและนำไปกำจัดขยะที่เกิดขึ้นจากกระบวนผลิตทั้งหมด เช่น เรซินที่ เสื่อมสภาพ (Waste resin) น้ำมันเครื่องใช้แล้ว (Used oil) และกากน้ำมัน (Waste oil) เป็นต้น โรงไฟฟ้าจะส่งให้บริษัทเอกชนที่ไดรับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำไปกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเช่นกัน ส่วนกากตะกอนที่รีดน้ำแลว (sludge cake) จากระบบผลิตน้ำ โรงไฟฟ้าได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้นำไปถมที่ลุ่มภายในโรงไฟฟ้าวังน้อย (หนังสือกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ อก 0313/5763 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2546)

ระดับเสียง

โรงไฟฟ้าวังน้อยมีการติดตั้งชุดลดเสียง (Silencer) เพื่อลดเสียงดังจากการระบายไอน้ำ มีการสร้างห้องคลุมเครื่องจักรบริเวณห้องเผาไหม้ของเครื่องกังหันก๊าซ มีการกำหนดข้อมูลจำเพาะของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีเสียงดัง ให้มีค่าระดับความดังเสียงไมเกิน 85 เดซิเบล (เอ) ที่ระยะห่างจากแหล่งกำเนิดเสียง 1 เมตร มีการตรวจวัดระดับเสียงตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงจัดให้มีป้ายหรือสัญลักษณ์ บริเวณพื้นที่ที่มีเสียงดังเกิน 80 เดซิเบล (เอ) และจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันเสียง เช่น ที่ครอบหู หรือปลั๊กอุดหู สำหรับพนักงานที่เข้าไปปฏิบัติงานบริเวณพื้นที่ที่มีระดับเสียงสูงเกินกว่า 80 เดซิเบล (เอ)

นิเวศวิทยาแหล่งน้ำ

โรงไฟฟ้าวังน้อยมีการติดตั้งตะแกรงบริเวณท่อสูบน้ำและมีการดูแลรักษาตะแกรงให้อยู่ในสภาพดีและใช้งานได้อยู่เสมอ มีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในคลองระพีพัฒน์และคลอง 26 อยู่เสมอ รวมถึงมีการวิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์หน้าดิน บ่อละ 2 ครั้ง บริเวณคลองระพีพัฒน์และคลอง 26 จำนวน 4 จุด คือ จุดสูบน้ำดิบในคลองระพีพัฒน์ (บริเวณประตูน้ำ) คลอง 26 บริเวณจุดปล่อยน้ำทิ้งจากโรงไฟฟ้า คลอง 26 บริเวณท้ายน้ำของจุดปล่อยน้ำทิ้งจาก โรงไฟฟ้าประมาณ 500 เมตร และคลอง 26 บริเวณเหนือน้ำของจุดปล่อยน้ำทิ้งจากโรงไฟฟ้าประมาณ 500 เมตร

นอกจากการดำเนินงานตามมาตรการฯ ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดแล้ว โรงไฟฟ้าวังน้อยยังใส่ใจเข้าร่วมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมแบบสมัครใจอีกมากมาย เช่น เข้าร่วมกิจกรรมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรในปี 2557 จนได้รับประกาศนียบัตรผ่านการขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 ได้รับรางวัล CSR-DIW Continuous Award จากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 จากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ได้รับเกียรติบัตรโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 รางวัลดีเลิศ “รัฐวิสาหกิจที่มีการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านการขับเคลื่อนแผนงานยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน” เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และได้รับใบรับรอง ISO 14001 ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้น

Skip to content