เรื่องเล่าจากดอยอินทนนท์ จาก”ทุ่งดอกฝิ่น” สู่ “ทุ่งดอกเบญจมาศ”

7 December 2018

         เสียงน้ำตกไหลกระทบกับโขดหิน ดังเสมือนเป็นดนตรีแห่งธรรมชาติตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำบนดอยอินทนนท์ แหล่งธารน้ำไหลเย็นใสสะอาดชั้นเยี่ยมที่คอยหล่อเลี้ยงทุกตารางนิ้วตั้งแต่ยอดดอยจนถึงปลายดอย บวกกับอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี ถือเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวผู้เดินทางไปเยี่ยมเยือนชุมชนบ้านขุนกลาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

         ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ที่บ้านขุนกลางเป็นเพียงชุมชนขนาดเล็กที่มีกลุ่มชนชาติพันธุ์กาเรน กะยีน คนยาง หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า กะเหรี่ยง ตั้งรกรากอยู่ไม่กี่สิบหลังคาเรือน ทุกบ้านยึดอาชีพปลูกฝิ่นขาย ไม่ว่าดอยไหนๆ ก็ถูกแผ้วถางจนกลายเป็นดอยหัวโล้น เพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นเกือบทุกบ้านรวมมากกว่า 7,000 ไร่ เพราะไม่รู้จะทำอาชีพอะไร ป่าทั้งป่าก็กลายเป็นทุ่งฝิ่น ทั้งๆ ที่ฝิ่นไม่ได้มีราคาขายสูงมากมายเท่าไหร่นัก ทุกอย่างดำเนินเรื่อยมาจนกลายเป็นวัฏจักรหมุนเวียนไม่จบสิ้น จนกระทั่งสิ่งมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นที่นี่ และเปลี่ยนทุ่งดอกฝิ่นให้กลายเป็นหมู่ดาวบนดินอันแสนงดงาม

         ผู้ใหญ่บ้านไตรวิทย์ แซ่ยะ ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านขุนกลางเชื้อสายกะเหรี่ยง ซึ่งปัจจุบันถือสัญชาติไทยเล่าย้อนกลับไปเมื่อครั้งเป็นเด็กอายุเพียง 6 ขวบ กับเหตุการณ์ที่ไม่เคยลืม ว่าเมื่อปี 2509 เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสติดตามพ่อไปรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์เสด็จมาเยี่ยมเยียนชาวเขาที่บ้านผาหมอน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านขุนกลาง ดอยอินทนนท์มากนัก จำได้ว่าวันนั้นคนเยอะมาก ราวกับว่าชาวเขาทุกหมู่บ้านมารวมตัวกันอยู่ที่นั่นทั้งหมด ครั้งนั้นพระองค์พระราชทานเหรียญให้กับชาวเขาที่ไปรอรับเสด็จทุกคน ไม่ว่าจะลูกเด็กเล็กแดง หรือแก่เฒ่าแค่ไหน นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะการแจกเหรียญในครั้งนั้น ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการยอมรับการมีอยู่ของชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวไทยภูเขาในประเทศไทย โดยชาวเขาจะนำเหรียญที่ได้รับพระราชทานไปแสดงตนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากทางรัฐบาล

         หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเสด็จกลับมาที่ดอยอินทนนท์อีกครั้ง ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาที่นี่ ว่ามีความเป็นอยู่ และทำมาหากินกันอย่างไร พระองค์ทอดพระเนตรถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชาวเขา ที่ล้วนแต่ยึดอาชีพปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย และตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย และถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ พระองค์จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาในไทยให้มีพื้นที่ทำกินอย่างเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมให้หันมาทำการเกษตรแบบถาวรทดแทนการปลูกฝิ่น ส่งเสริมและถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านเกษตรผสมผสานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขาให้กินดีอยู่ดีขึ้น รวมทั้งช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์” ขึ้นในปี พ.ศ. 2522 เป็น 1 ใน 38 สถานีวิจัยในมูลนิธิโครงการหลวง โครงการส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้ดำเนินงานวิจัยด้านไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผลเมืองหนาว จนกระทั่งได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สถานีเกษตรหลวง อินทนนท์” ในปี 2550

         ผู้ใหญ่บ้านไตรวิทย์ เล่าต่อไปว่า หลังจากปี 2526 ทุ่งฝิ่นก็หายหมดไปจากดอยอินทนนท์ปัจจุบันพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ของชุมชนบ้านขุนกลางถูกแทนที่ด้วยแปลงเพาะพันธุ์ดอกเบญจมาศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลังจากโครงการหลวงได้วิจัยและสอนชาวเขาให้ปลูกครั้งแรกเมื่อปี 2531 ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนปีละหลายแสนบาท โดยใช้ระยะเวลาปลูก 4 เดือนต่อหนึ่งรอบผลผลิตเก็บเกี่ยว ปลูกได้ตลอดทั้งปี ปีละ 3 ครั้ง เพราะมีอุณหภูมิที่เหมาะสม เฉลี่ยอยู่ที่ 21 องศาเซลเซียส หากใครเคยเดินไปเลือกซื้อดอกไม้ที่ปากคลองตลาด เหล่าดอกเบญจมาศหลากสีหลายพันธุ์เกือบทั้งหมดนั้น คือดอกไม้ที่ปลูกและส่งตรงมาจากบ้านขุนกลางนั่นเอง เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งเสด็จเยี่ยมเยียนและทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวเขาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ช่วยพลิกฟื้นแผ่นดินและสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ชาวเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

         จากนั้นผู้ใหญ่บ้านไตรวิทย์ได้เล่าย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ครั้งที่หมู่ดาวบนยอดดอยอินทนนท์ส่องแสงวาววับเป็นครั้งแรก จุดเริ่มต้นเกิดมาจากการวิจัยของเจ้าหน้าที่โครงการหลวงฯ ที่วิจัยแล้วพบว่า ดอกเบญจมาศจะเจริญเติบโตได้ดีและรวดเร็วขึ้น หากนำแสงสว่างจากหลอดไฟมาส่องหล่อเลี้ยงในเวลากลางคืน เรียกว่า การหลอกดอกไม้ ซึ่งจะเริ่มเปิดไฟตั้งแต่เวลา 18.00 น. ขึ้นไป เป็นเวลานานราว 3-4 ชั่วโมงต่อวัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยจะเริ่มเปิดไฟส่องให้ต้นเบญจมาศตั้งแต่ช่วงเพาะชำจนกระทั่งอายุได้ประมาณ 45 สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ได้ดอกเบญจมาศมีก้านดอกยาวตรงกับความต้องการของท้องตลาด และขายได้ราคาดี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทุกค่ำคืนบนดอยอินทนนท์ก็จะถูกปกคลุมไปด้วยแสงสว่างสีส้มอมเหลืองจากหลอดไฟหลายพันดวงที่คอยส่องแสงสว่างหลอกให้ต้นเบญจมาศโตวันโตคืน

         ยามค่ำคืนหลอดไฟนับพันเหล่านั้นจึงส่องแสงกระจายไปทั่วทั้งดอยราวกับว่ามีดวงดาวจำนวนมากลอยอยู่บนพื้นดิน จนนักท่องเที่ยวมักจะพูดติดตลกกันว่า ที่นี่มีดาวบนดิน ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเปรียบเสมือนเทวดาเดินดินที่โปรยปรายดวงดาวสกาวและความสุขมายังยอดดอยอินทนนท์แห่งนี้ตราบนานเท่านาน

         ในอดีตไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนบ้านขุนกลาง การปลูกดอกเบญจมาศจึงต้องใช้ไฟฟ้าพลังน้ำตกที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลางของ กฟผ. ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสร้างแสงสว่างหล่อเลี้ยงสถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์และชุมชนต่างๆ บนดอยอินทนนท์เกือบทุกบ้าน แต่ด้วยปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โครงการหลวงฯ และชุมชนจึงจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจากทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และจากโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของชุมชนบ้านขุนกลางที่ได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังน้ำตกธรรมชาติ ซึ่งไหลลงมาหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ยาวนานมามากกว่า 34 ปี อย่างต่อเนื่อง ไม่เคยหยุด เพราะความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำ บวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยของ กฟผ. ที่ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านอย่างเต็มที่ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

         นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ทำการวิจัยและพัฒนาหลอดไฟให้สามารถส่องสว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากในอดีตใช้หลอดกลมขนาด 100 วัตต์ ทำให้ต้นทุนค่าไฟค่อนข้างสูง ตกเดือนละ 10,000 บาท แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้หลอดตะเกียบ ซึ่งประหยัดไฟมากขึ้น แต่กลับประสบปัญหาแสงฟุ้งกระจายขึ้นไปบนท้องฟ้ากลบความสวยงามของแสงดาว ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและระบบนิเวศ กฟผ. จึงได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ศึกษาและวิจัยโครงการ “Dark Sky” ซึ่งได้นำความรู้เรื่องแสงเข้ามาปรับใช้ในการปลูกดอกเบญจมาศ โดย กฟผ. ได้สนับสนุนและเปลี่ยนหลอดไฟทั้งหมดเป็นหลอด LED พร้อมชุดครอบลดการฟุ้งกระจายของแสง ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ช่วยแก้ปัญหาเรื่องแสงฟุ้งกระจายกลบแสงดาวบนท้องฟ้า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยลดปัญหาในระบบนิเวศของชุมชน รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของหลอดไฟ ทำให้ดอกเบญจมาศได้รับแสงสว่างอย่างเหมาะสม ปัจจุบัน กฟผ. ได้ดำเนินการปลดและเปลี่ยนหลอดไฟให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกดอกเบญจมาศบนดอยอินทนนท์ครบหมดทุกดวง (ดาว) แล้ว

         และนี่คือเรื่องเล่ามหัศจรรย์ของชนชาติพันธุ์กระเหรี่ยงที่ชุมชนบ้านขุนกลาง ไม่น่าเชื่อว่าอดีตหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ และไม่มีไฟฟ้าใช้ในวันนั้น จะกลายเป็นชุมชนที่อยู่ดีกินดีและพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์ในวันนี้ เพราะประเทศไทยของเราโชคดีเหลือเกินที่มีพระราชาที่ทรงเปรียบดั่งเทวดาเดินดิน ทรงเปลี่ยนทุ่งดอกฝิ่นให้กลายเป็นทุ่งดอกเบญจมาศที่ยามค่ำคืนกลายเป็นหมู่ดาวบนดินแห่งยอดดอยอินทนนท์ ณ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

Skip to content