“โครงการ Dark Sky” คืนท้องฟ้าที่มืดมิดด้วยหลอดไฟ LED สานฝันสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บนดอยอินทนนท์

28 February 2019

เครดิตภาพ http://restlessnationradio.com/on-the-trail-the-brilliance-of-the-night-sky/

         ท่ามกลางเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่คุณจะได้เห็นดวงดาวพร่างพราวเรียงรายอยู่มากมายบนท้องฟ้าได้อย่างชัดเจน เนื่องจากแสงสว่างจากหลอดไฟจำนวนมากได้บดบังการมองเห็นดวงดาว ซึ่งการจะมองเห็นได้นั้น ท้องฟ้าต้องมีความมืดมากพอที่จะเห็นดวงดาว และในพื้นที่พื้นที่ป่าเขา เราอาจจะได้เห็นสัตว์ป่าน้อยใหญ่นานาชนิดออกมาหากินในเวลากลางคืนด้วย นั่นคือความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีใจรักการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

         สำหรับ กฟผ. หน่วยงานผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งได้ดำเนินงานทางด้าน Demand Side Management หรือ DSM เพื่อรณรงค์ให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 25 ปี และปัจจุบัน กฟผ. ยังได้สนับสนุนให้ท้องฟ้ามืดลงจากการรณรงค์ให้เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ในโครงการลดผลกระทบจากมลภาวะทางแสงที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หรือ “โครงการ Dark Sky” ซึ่งได้ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว

ความสว่างของหลอดไฟ LED ที่ไม่กระทบถึงดวงดาว

         บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกดอกเบญจมาศอยู่จำนวนมาก พบว่ามีการเปิดไฟในช่วงเวลา 19.00 – 23.00 น. ให้ดอกเบญจมาศมีระยะเวลาการรับแสงที่ยาวนานขึ้นเพื่อชะลอการแตกตาดอกและให้ก้านดอกยาวขึ้น จึงจะเป็นที่ต้องการของตลาดและขายได้ราคาดี โดยแสงไฟจากหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์หรือหลอดตะเกียบขนาด 20 วัตต์ ซึ่งเปิดในช่วงเวลาดังกล่าว มีการฟุ้งกระจายของแสงขึ้นบนท้องฟ้ามาก ทำให้ฟ้าสว่างในเวลากลางคืนจนไม่สามารถมองเห็นดวงดาวได้ โดยมีค่าความมืดประมาณ 17-18 แมกนิจูดต่อตารางฟิลิปดา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ไม่ใช่บนยอดดอย) ซึ่งค่าความมืดที่สามารถมองเห็นดวงดาวได้ชัดเจนควรมีค่ามากกว่า 20 แมกนิจูดต่อตารางฟิลิปดา

         เมื่อสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เห็นว่า กฟผ. มีการส่งเสริมการใช้หลอดไฟ LED ซึ่งมีคุณสมบัติส่องแสงลงสู่ด้านล่าง แสงไม่กระจายขึ้นข้างบน และหากได้มีการดำเนินโครงการร่วมกันโดยให้ชาวบ้านในพื้นที่เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ขนาด 10.5 วัตต์ด้วยแล้ว จะเกิดประโยชน์หลายประการ ทั้งชาวบ้านสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 47.5 รวมทั้งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และไม่ทำให้ฟ้าสว่างในเวลากลางคืน เกิดเป็น Dark Sky ที่เหมาะแก่การดูดาว กฟผ. จึงให้การสนับสนุนจนเกิดเป็นโครงการลดผลกระทบจากมลภาวะทางแสงที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หรือโครงการ Dark Sky ขึ้นมา

คืนดวงดาวให้ท้องฟ้าที่มืดมิด

         พื้นที่บ้านขุนกลาง ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ คือพื้นที่เพื่อใช้ในการทดลองในโครงการ Dark Sky โดย สดร. ได้เสนอ Proposal เพื่อรับทุนวิจัยจาก กฟผ. และได้มีการลงนามสัญญาดำเนินการวิจัย โดยมีหน่วยงานพันธมิตร คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้วย ซึ่งได้มีการชักชวนให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมโครงการถึง 232 ครัวเรือน

         โครงการ Dark Sky มีระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 24.6 ล้านบาท โดยเป็นค่าอุปกรณ์ประมาณ 16.3 ล้านบาท ซึ่งได้แก่ ค่าหลอดไฟ LED ค่าอุปกรณ์ต่างๆ การติดตั้งสายไฟและโครงสร้างต่างๆ โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ได้มีการเปลี่ยนเป็นหลอดไฟ LED จำนวน 40,000 หลอด และเปลี่ยนขั้วหลอดอีก 70,000 ขั้ว ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จำนวนหลอดไฟให้พอดีกับขั้วหลอด เนื่องจากจะหยุดการให้แสงไฟในตอนกลางคืนเมื่อก้านดอกเบญจมาศยาวได้ที่ประมาณ 40 เซนติเมตรแล้ว จึงปล่อยให้ดอกเบญจมาศโตตามปกติ

         จากการดำเนินโครงการพบว่า ค่าไฟฟ้าต่อเดือนของทั้ง 232 ครัวเรือน จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 500,000 บาท เมื่อเปลี่ยนเป็นหลอดไฟ LED แล้ว ลดลงเหลือประมาณ 250,000 บาท หรือลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ดอกเบญจมาศก็ชูช่อสวยงามเช่นเดิม นอกจากนี้ ยังได้มีการเปรียบเทียบค่าความมืดบนท้องฟ้าพบว่า มีค่าที่สูงขึ้นเป็น 19.6 แมกนิจูดต่อตารางฟิลิปดา ซึ่งเป็นค่าที่ใกล้เคียงเหมาะแก่การดูดาว แล้วเราจะพบว่าดวงดาวบนท้องฟ้านั้นสวยงามระยิบระยับพร่างพราวเพียงใด

เรียกสัตว์ป่าและระบบนิเวศให้กลับคืน

         เมื่อดอกเบญจมาศยังคงให้ผลผลิตที่ดี และท้องฟ้ากลับมามืดมิด จึงมีการศึกษาต่อถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม จากคุณสมบัติอย่างหนึ่งของหลอดไฟ LED คือให้แสงสว่างแต่ไม่ปล่อยความร้อน จึงไม่ล่อแมลง เมื่อแมลงลดลง การใช้ยาฆ่าแมลงก็ลดลงด้วย ระบบนิเวศในลำธารจึงดีขึ้น โดยจะมีการศึกษาระบบนิเวศตลอดแนวลำธารจากการวัดคุณภาพน้ำ ซึ่งดูจากชนิดและประเภทของปลา ทั้งปลาที่อยู่ได้แต่ในน้ำสะอาด และปลาที่อยู่ในน้ำที่ไม่สะอาดด้วย รวมไปถึงจะมีการศึกษาว่าเมื่อท้องฟ้ามืดลงแล้วจะมีสัตว์ป่ากลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ จากที่ก่อนหน้านี้พบว่ามีกวางและสัตว์อื่นๆ เข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้นซึ่งสังเกตได้จากรอยเท้า

         อาจสรุปได้ว่า การศึกษาในปีแรกได้เน้นในเรื่องการประหยัดพลังงานเมื่อชาวบ้านเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED จากนั้นจะมีการศึกษาทางด้านระบบนิเวศต่อไปด้วย จากที่แต่เดิมไม่เคยมีการสำรวจสัตว์ป่า สัตว์น้ำ และแมลงที่อยู่ในน้ำ ว่ามีกี่ชนิด กี่ประเภท บนดอยอินทนนท์ โครงการนี้ก็จะทำการสำรวจอย่างจริงจังเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลของความหลากหลายของระบบนิเวศหรือแหล่งที่อยู่อาศัย (Ecological system diversity หรือ Habitat diversity) นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังซึ่งจะเป็นประโยชน์เพื่อใช้ในการอ้างอิงต่อไป

         นอกจากนี้ โครงการ Dark Sky อาจจะมีการการขยายผลต่อในด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ด้วย และหากเห็นผลได้อย่างชัดเจนซึ่งต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการให้เกิด Dark Sky ก็สามารถขอรับใบรับรองจาก International Dark-Sky Association หรือ IDA ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง โดยนักท่องเที่ยวสามารถมาดูดาวที่เมืองไทย ณ จุดที่เป็น Dark Sky บนดอยอินทนนท์ ได้

         นับเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตรงข้ามกัน “แสงสว่างกับความมืด” บนพื้นฐานของการบริหารจัดการที่ทุกฝ่ายต่างได้รับประโยชน์อย่างสมดุล ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

Skip to content