EV Ecosystem เพื่อคนไทยที่รัก EV

21 December 2021

          มีข่าวแว่วว่า ภาครัฐกำลังจัดเซอร์ไพร์สของขวัญปีใหม่ชิ้นพิเศษให้กับคนไทยที่สนใจเป็นเจ้าข้าวเจ้าของรถ EV (Electric Vehicle) หรือ รถไฟฟ้า ซึ่งยังต้องลุ้นกันต่อว่าจะเป็นอะไร แต่ที่แน่ ๆ ไม่ต้องลุ้น คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เตรียมพร้อมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สรรค์สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ผลักดันให้ รถ EV เป็นรถที่ทุกคนเลือกใช้ ด้วย EGAT EV Business Solutions โดยได้เปิดตัว 4 ผลิตภัณฑ์ และบริการหลักด้าน EV  ไปเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งกฟผ. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเดินหน้าขับเคลื่อนสังคมแห่งการเดินทางยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          ใครกำลังลังเลในการตัดสินใจว่าจะซื้อ EV ดีมั้ย เชิญทางนี้… กฟผ. พร้อมให้บริการด้าน EV อย่างครบครัน และพร้อมผลักดันให้การใช้รถ EV ของคนไทยสะดวกสบายไร้กังวล

พักผ่อนอยู่บ้าน ก็ชาร์จไฟชิล ๆ ด้วย “EGAT+Wallbox”

          กฟผ. พร้อมเสิร์ฟความสะดวกสบายถึงที่บ้านด้วยอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กแบบธรรมดา (AC Normal Charger) ภายใต้แบรนด์ “EGAT+Wallbox” ยกขบวนมาหลากหลายรุ่นให้เลือกใช้ทั้ง Pulsar Plus, Copper SB, Commander 2 และ Quasar ซึ่งมีขนาดกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 7.4-22 กิโลวัตต์ ชาร์จไฟเพียง 1 – 3 ชั่วโมง ก็พร้อมออกเดินทางได้อย่างมั่นใจ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจาก กฟผ. จะเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ ซึ่งจะคำนวณกำลังไฟฟ้า ขนาดหม้อแปลง ตลอดจนบริการหลังการขาย ด้วยราคาเบาๆ ย่อมเยาว์กว่าท้องตลาด ปัจจุบันมีผู้ติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จ EGAT+Wallbox ที่บ้านแล้วกว่า 200 ราย แอบกระซิบว่า เซเลบเมืองไทยก็เป็นลูกค้าแบรนด์นี้ด้วยนะ นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแผนขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทย ทั้งต่างชาติครบวงจรกันเลยทีเดียว

          ล่าสุด กฟผ. เพิ่งเปิดตัว Supernova เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charger) กำลังจ่ายไฟขนาด 60 กิโลวัตต์ ในงาน Motor Expo 2021 ที่เพิ่งปิดฉากไป ด้วยดีไซน์ที่ทันสมัย สวยงาม พร้อมกำลังในการชาร์จไฟเพียง 15 นาที วิ่งได้ 100 กิโลเมตร รองรับหัวชาร์จทั้งแบบ CCS และ CHAdeMo ตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในสถานีอัดประจุไฟฟ้า ด้วยราคาที่คาดว่าจะถูกกว่าเครื่องชาร์จแบบเดียวกันประมาณ 40-50% และพร้อมส่ง Supernova สู่ตลาดในไตรมาสแรกของปี 2565 อีกทั้งเตรียมนำเข้าติดตั้งในสถานีชาร์จ EleX by EGAT ของ กฟผ. เพื่อเสริมทัพและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้ EV

คนไทยมั่นใจ เดินทางไปไหนก็มีที่ชาร์จ EV “EleX by EGAT”

          ข้อกังวลสำคัญของผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อรถ EV คงไม่พ้นสถานีชาร์จไฟที่จะรองรับการเดินทางในชีวิตประจำวัน เราคุ้นชินกับปั๊มน้ำมันที่มีอยู่ทุกมุมเมือง น้ำมันจะหมดที่ไหน ก็มีปั๊มน้ำมันให้เติมที่นั่น ต่างกับสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ให้นึกทันทีตอนนี้ก็นึกไม่ออกว่ามีอยู่ที่ไหนบ้าง กฟผ. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วย “EleX by EGAT” แบรนด์สถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ. ที่รุดเร่งขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพียงพอและครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ โดยในปี 2564 นี้ได้ดำเนินการขยายสถานีฯ ไปแล้วทั้งหมด 28 สถานี และในปีหน้า 2565 กฟผ. มีแผนทุ่มเงินลงทุนกว่า 160 ล้านบาท สร้างสถานีชาร์จเพิ่ม สู่ 100 สถานีทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยมั่นใจเดินทางไปที่ไหนก็มีที่ชาร์จ EV แน่นอน

          มาถึงวันนี้… ความมั่นใจในการเปลี่ยนมาใช้รถ EV เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้และผลิตรถ EV ในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย กฟผ. เน้นขยายสถานีชาร์จบนถนนไฮเวย์ที่ได้ร่วมมือกับค่ายน้ำมันพีที (PT) เพื่อรองรับและให้บริการในทุกระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร

          นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้เพิ่มจุดชาร์จในพื้นที่ที่ผู้คนนิยมไปใช้เวลาทำกิจกรรมและพักผ่อนหย่อนใจ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามกอล์ฟ พื้นที่จอดรถ MRT โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รวมถึงมีสถานีแรกในสถานที่ราชการ @กระทรวงการคลัง เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบการทำสถานีชาร์จในสถานที่ราชการหรือเอกชนอื่น ๆ ต่อไป

สถานี EleX by EGAT ณ กระทรวงการคลัง

สถานี EleX by EGAT ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา

จองชาร์จ จ่าย ได้ง่าย ๆ ผ่าน Application “EleXA”

          หลาย ๆ คน คงมีคำถามเพิ่มเติมว่าแล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า สถานีชาร์จไฟฟ้ามีที่ไหนบ้าง เพื่อวางแผนการเดินทางได้อย่างถูกต้อง  กฟผ. ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน ที่เรียกว่า “EleXA” ที่ให้บริการทั้งบนระบบปฏิบัติการ IOS และ Android เปรียบเสมือนผู้ช่วยที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า ในแอปพลิเคชันนี้จะมีแผนที่แสดงที่ตั้งสถานีชาร์จ ทั้งสถานีของ Elex by EGAT และสถานีของค่ายอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถวางแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังทำหน้าที่กดสั่งจ่ายไฟฟ้าจากสถานีชาร์จเข้าสู่รถ EV และสามารถจ่ายเงินผ่านแอปฯ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วและง่ายดาย ซึ่งจุดเด่น คือ การให้บริการแบบชาร์จก่อนจ่ายทีหลัง (Post Paid) เพื่อให้ผู้ใช้บริการใช้จ่ายตามจริง โดย กฟผ. ได้พัฒนาให้แอปพลิเคชัน EleXA นอกจากค้นหาสถานีแล้ว ยังสามารถใช้บริการจองเครื่องชาร์จ วางแผนการเดินทาง และร่วมจัดโปรโมชั่นกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ปัจจุบันมีผู้สนใจใช้งานแอปพลิเคชัน EleXA มากถึง 4,500 User

จากผู้ใช้รถ EV สู่ผู้ประกอบการ EV ด้วยระบบปฏิบัติการ “BackEN”

          นอกจาก กฟผ. จะเตรียมการบริการต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้รถ EV แล้ว ยังคำนึงถึงผู้ประกอบการที่ประสงค์จะทำธุรกิจด้านสถานีชาร์จโดยได้พัฒนาระบบ “BackEN”  ซึ่งเป็นระบบ Network Operator หลังบ้านที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการทั้งหมด เป็นระบบที่ควบคุมสั่งการให้ปล่อยไฟฟ้าชาร์จรถ EV ที่สถานีอัดชาร์จในพิกัดพื้นที่ตั้งต่าง ๆ โดยผู้ใช้งานจะสื่อสารกับระบบนี้ผ่านแอปพลิเคชัน EleXA และยังเป็นระบบประมวลผลค่าใช้จ่ายในการชาร์จอีกด้วย ปัจจุบัน  BackEN เปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียน (Subscribe) เป็นเจ้าของสถานี EV ได้ง่าย ๆ โดยมีทีมงานผู้เชี่่ยวชาญจาก กฟผ. ให้คำปรึกษา ใครที่มีสถานีชาร์จเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีระบบปฏิบัติการก็สามารถมาเข้าร่วมนำระบบ BackEN เข้าไปบริหารจัดการสถานีชาร์จ โดยสถานีชาร์จนั้น จะปรากฏอยู่ในแอปพลิเคชัน EleXA สามารถสั่งชาร์จไฟ จ่ายเงินแบบเดียวกับที่ชาร์จไฟที่ EleX by EGAT ซึ่งระบบนี้ทีมงาน กฟผ. ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาขึ้น ปัจจุบัน กฟผ. เป็นผู้ดูแลระบบทั้งหมด

          ทุกมิติที่กล่าวมา… สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า กฟผ. พร้อมขับเคลื่อนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การเดินทางสีเขียวของคนไทยทุกคน ลดการปล่อยคาร์บอนมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศไทย ในปี ค.ศ.2050 มาร่วมเดินทางและสร้างถนนสีเขียวไปด้วยกันได้แล้ว ณ วันนี้ …

Skip to content