ชวนคนไทยใช้อีวี กฟผ. การันตีกางแผนกระตุ้นความมั่นใจ

13 December 2022

            กระแสรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยยังคงแรงต่อเนื่องและเติบโตแบบก้าวกระโดด เห็นได้ชัดจากยอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 156.86% หรือกว่า 14,000 คัน ทำให้การแข่งขันของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศค่อนข้างดุเดือด ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จ และเครื่องชาร์จสำหรับที่พักอาศัย ซึ่งเหล่าผู้ประกอบการต่างยกทัพมาประชันกันในงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 39 หรือ Motor Expo 2022 กันอย่างคึกคัก

            การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เร่งเครื่องเดินหน้ารุกธุรกิจอีวีพร้อมเป้าหมายสนับสนุนระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (Ecosystem) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการใช้อีวีทั้งที่บ้านและพื้นที่สาธารณะ

            นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวถึงทิศทางธุรกิจอีวีในประเทศไทยว่า การแข่งขันในตลาดอีวีจะดุเดือดมากขึ้นเนื่องจากตลาดมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ปริมาณรถอีวีที่เข้ามาในไทยมากขึ้น สถานีชาร์จจึงต้องสร้างขึ้นมาให้ทัน

เดินทางสะดวก มั่นใจใช้อีวีผ่านสถานีชาร์จ EleX by EGAT

            ปัจจุบัน กฟผ. เปิดให้บริการสถานีชาร์จ EleX by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้ว 87 สถานีทั่วประเทศ และตั้งเป้าขยายให้ได้ 120 สถานีภายในไตรมาสแรกของปี 2566 เพื่อให้ครอบคลุมทุกจังหวัดมากขึ้นโดยแต่ละสถานีมีระยะห่างกันไม่เกิน 100 กิโลเมตร อาทิ แม่ฮ่องสอน น่าน บึงกาฬ ปัตตานี ระนอง และอาจเพิ่มจำนวนหัวชาร์จในบางจังหวัดที่มีปริมาณการชาร์จที่ค่อนข้างมากด้วย 

            สำหรับสถานีชาร์จ EleX by EGAT แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักตามลักษณะพื้นที่หลัก ได้แก่

            1. กลุ่มเดินทางข้ามจังหวัด ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณทางหลวง (Highway) ทำให้ผู้ใช้อีวีสามารถเดินทางจากเหนือจรดใต้ได้ด้วยสถานี EleX by EGAT เน้นติดตั้งเครื่องชาร์จแบบเร็ว (DC Fast Charger) ซึ่งมีจำนวนคนเดินทางผ่านมาก ใช้เวลาชาร์จไม่นาน เน้นชาร์จไวและเดินทางไปต่อ

            2. กลุ่มลูกค้าในเมือง (Intown) เน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์ชีวิตคนเมืองที่ใช้อีวี เน้นติดตั้งเครื่องชาร์จแบบปกติ (AC Normal charger) ซึ่งผู้ใช้อีวีจะใช้เวลาในสถานที่นั้น ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจจะ 2-3 ชั่วโมง อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สนามกอล์ฟ หน่วยงานราชการ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า

ค้นหาสถานีชาร์จ จ่ายเงินสะดวกด้วย EleXA

            กฟผ. ร่วมกับผู้ให้บริการสถานีชาร์จรายอื่น คือ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เชื่อมโยงข้อมูลตำแหน่งสถานีชาร์จทุกค่ายในแอปพลิเคชันเดียว เพื่อให้ผู้ใช้อีวีลดความยุ่งยากในการค้นหาสถานีชาร์จ

            เพียงผู้ใช้อีวีเปิดแอปพลิเคชัน EleXA จะสามารถค้นหาสถานีชาร์จและสถานะความพร้อมใช้งานแบบเรียลไทม์ของทุกค่ายที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งแบบ DC Fast Charge และ AC Normal Charge ประเภทหัวชาร์จ รวมถึงสามารถให้ EleXA ช่วยวางแผนการเดินทาง จองคิวชาร์จ และชำระเงินที่รองรับทั้งแบบโอนจ่าย QR Code หรือตัดบัตรเครดิต เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้อีวี อีกทั้งภายหลังการชาร์จไฟทุกครั้งยังได้รับ EleXA Point เพื่อสะสมสำหรับแลกรับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษอื่น ๆ

ตอบโจทย์ทุกการชาร์จด้วยเครื่องชาร์จอีวีอัจฉริยะ Wallbox

            ปัจจุบันการชาร์จอีวีที่บ้านยังถือเป็นการชาร์จหลักร้อยละ 80 ของผู้ใช้อีวี เครื่องชาร์จอีวีจึงต้องได้มาตรฐานความปลอดภัยทั้งต่อรถยนต์ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าของบ้านด้วย ปัจจุบัน กฟผ. ได้มอบหมายให้บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด บริษัทนวัตกรรมพลังงานน้องใหม่ของ EGAT Group เร่งขยายธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งเครื่องชาร์จอีวีภายใต้แบรนด์ Wallbox ซึ่งเป็นเครื่องชาร์จอีวีอัจฉริยะ (Smart EV Charger) ผลิตโดยบริษัท Wallbox Chargers S.L. ของประเทศสเปนที่ได้รับความนิยมมากกว่า 100 ประเทศ เพื่อส่งมอบประสบการณ์การชาร์จไฟที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้อีวี เนื่องจาก Wallbox เป็นเครื่องชาร์จอีวีที่มีความโดดเด่นในเรื่องฟีเจอร์ต่าง ๆ อาทิ การตั้งระยะเวลาการชาร์จอีวีในช่วงที่มีอัตราค่าไฟฟ้าต่ำ ยกระดับการใช้พลังงานสีเขียวภายในที่อยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากรองรับการทำงานร่วมกับพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์ รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอกที่ทันสมัย กะทัดรัด และได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยุโรปจึงเหมาะกับผู้ใช้อีวีทุกกลุ่มทั้งที่พักอาศัยและพื้นที่ธุรกิจ

            สำหรับ Wallbox ที่เหมาะสำหรับใช้ในที่พักอาศัย ได้แก่ รุ่น Pulsar Max ซึ่งเป็นเครื่องชาร์จ Wallbox รุ่นล่าสุดที่เปิดตัวในงาน Motor Expo 2022 มีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ความสามารถใหญ่เกินตัว เพราะชาร์จไฟฟ้าได้เร็ว รองรับการจ่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 7.4 – 22 กิโลวัตต์ รวมถึงสามารถเลือกชาร์จไฟฟ้าสะอาดจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคา อีกทั้งยังได้รับการออกแบบให้ทนทานต่อการใช้งานและติดตั้งง่ายขึ้นจึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง

            และรุ่น Pulsar Plus เป็นเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์มินิมอลขนาดเล็ก น้ำหนักน้อยกว่า 1 กิโลกรัม แต่ทรงพลัง สามารถชาร์จไฟได้แรงสูงสุดถึง 22 กิโลวัตต์ เหมาะกับการชาร์จอีวีที่บ้านทุกวัน

            ในขณะที่รุ่น Quasar เป็นเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบสองทิศทาง (Bi-Directional Charger) ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก สามารถจ่ายไฟย้อนกลับจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ากับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าภายในอาคาร

            ส่วนรุ่น Copper SB เหมาะสำหรับใช้ในพื้นที่ธุรกิจ เพราะได้รับการออกแบบมาให้สามารถรองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกค่าย เหมาะกับการติดตั้งในที่พักส่วนตัวหรือที่จอดรถในพื้นที่ธุรกิจ เพราะสามารถกำหนดการใช้งานด้วย RFID card สำหรับสมาชิกหรือลูกค้าธุรกิจ ขนาดเล็กกระทัดรัดทำให้ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง มีระบบกระจายพลังงาน (Power Sharing) ระหว่างเครื่องชาร์จหลายตัว เพื่อแบ่งจ่ายพลังงานให้กับรถแต่ละคันด้วยกำลังไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังมีระบบช่วยบริหารจัดการพลังงานและเชื่อมต่อระบบชำระค่าบริการได้อีกด้วย

            สามารถชมผลิตภัณฑ์ Wallbox ได้ที่บูธ EGAT Group ภายในงาน Motor Expo 2022 ตั้งแต่วันนี้ – 12 ธันวาคม 2565 หรือติดต่อสอบถามได้ที่ Line Official Account: @innoev.co และ https://www.innoev.co/

เห็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้สนใจลงทุนสถานีชาร์จด้วยระบบ BackEN

            สำหรับผู้ที่สนใจมองหาธุรกิจสถานีชาร์จอีวี กฟผ. ยังมีบริการระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จ หรือ BackEN​ ซึ่งเป็นระบบที่​ กฟผ. พัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับสถานีชาร์จ​ EleX​ by​ EGAT รวมถึงให้บริการแก่ผู้ที่สนใจลงทุนสถานีชาร์จอีวีเชิงพาณิชย์​ โดยระบบ BackEN​ จะช่วยควบคุมบริหารจัดการสถานีชาร์จแบบออนไลน์และติดตามสถานะได้แบบเรียลไทม์ อาทิ การตั้งเวลาเปิด-ปิดสถานีชาร์จ การตั้งราคา ติดตามจำนวนผู้ใช้บริการ ปริมาณการชาร์จ รายได้ ตลอดจนได้รับการดูแลจากทีม Customer Service ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานคอยบริการ ส่วนลูกค้าที่มาใช้บริการก็สามารถสั่งชาร์จไฟฟ้าและชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน EleXA

            ปัจจุบัน กฟผ. มีลูกค้าหลากหลายธุรกิจเข้ามาใช้บริการ​ระบบ BackEN​ ทั้งหมด 15 ราย  ทั้งม​หาวิทยาลัย ออฟฟิศ โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม และสนามกอล์ฟที่ต้องการติดตั้งสถานีชาร์จเพื่อให้บริการลูกค้าของธุรกิจเดิม และมีแนวโน้ม​เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะรถยนต์​ไฟฟ้า​มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับรูปแบบการให้บริการของ กฟผ. แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

            – Open Platform ให้บริการแพลตฟอร์มอย่างเดียวสำหรับผู้ประกอบการที่ติดตั้งเครื่องชาร์จอีวี  และมองหาระบบควบคุมบริหารจัดการสถานีเข้ามาช่วยเจ้าของสถานีชาร์จ โดยจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือน เริ่มต้นเพียงเดือนละ 699 บาทเท่านั้น 

            – Total Solution สำหรับผู้ที่มีเฉพาะพื้นที่ โดย กฟผ. จะเข้าไปสำรวจ ให้คำปรึกษาจากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญว่าพื้นที่ดังกล่าวควรเป็นสถานีชาร์จประเภทไหน จำนวนกี่หัวชาร์จ จุดติดตั้งควรอยู่บริเวณใด ประเมินเงินลงทุนเบื้องต้น ก่อสร้างติดตั้งสถานีชาร์จ เชื่อมต่อเข้ากับระบบ BackEN และทดสอบจนสามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน EleXA ได้

            – บริการทดสอบความเข้ากันได้ของระบบ BackEN กับเครื่องชาร์จ เหมาะกับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องชาร์จอีวีที่มองหาระบบปฏิบัติการเพื่อให้บริการกับลูกค้าได้ครบวงจร

            ระบบ BackEN ถือเป็นระบบหลังบ้านแบบครบวงจรที่สถานีชาร์จเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องมี​ ผู้ที่สนใจลงทุนสถานีชาร์จไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งในการพัฒนา​ระบบปฏิบัติการ​ใหม่ ทำให้สามารถ​มีสถานีชาร์จไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ง่ายขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง ในอนาคต กฟผ. ยังเตรียมพัฒนาฟังก์ชั่นสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่มอย่างระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จ​สำหรับโรงแรมเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจแบบครบวงจรมากขึ้น และขยายขนาดเครือข่ายของผู้ให้บริการจุดชาร์จเพื่อร่วมเติมเต็ม EV Ecosystem สู่ธุรกิจเป้าหมายของประเทศ โดยผู้ที่สนใจสามารถขอคำปรึกษารูปแบบธุรกิจและรายละเอียดได้ทาง Line Official Account: @BackenEV

Skip to content