เปิดโมเดล “ปลูกป่าวนเกษตร ขายคาร์บอนเครดิต” ชวนคนบนดอยเปลี่ยนไร่ข้าวโพดสู่ผืนป่า

27 July 2023

          “4 ปีให้หลัง ดอยมันแล้งหนักมาก แต่ก่อนปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด มันไม่ยั่งยืน บางปีฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงก็ขาดทุนไปเลย พอคนอยู่ไม่ได้ก็จะบุกรุกป่าไปเรื่อย ๆ ทิ้งที่ดินเก่าไว้ข้างหลังกลายเป็นเขาหัวโล้น”

          คำบอกเล่าของวุฒิชาติ ลาดสีทา เกษตรกรบ้านเมืองน้อย ต.แม่เจดีย์ใหม่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย สะท้อนถึงปัญหาการทำเกษตรเชิงเดี่ยวแบบเดิม ๆ ที่นิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะให้ผลผลิตเร็วและขายได้เงินทันที แต่ก็ต้องแลกมากับผืนป่าและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ

          มูลนิธิโครงการหลวงจึงจับมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินหน้าเชิงรุกพลิกฟื้นผืนป่าผ่านโมเดล “ปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตแบบผูกพัน” ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกพืชแบบผสมผสาน ควบคู่กับการเพิ่มพื้นที่ป่าโดยใช้กลไกคาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นไม้สำหรับขายคาร์บอนเครดิตในระยะยาวเพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง ทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยเริ่มนำร่องพื้นที่แรกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จำนวน  22.5 ไร่ ในพื้นที่ของเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือก 3 ราย คือ นายวุฒิชาติ ลาดสีทา นางเกษร จะทอ และนายจะหลู จะตอ ที่ตั้งใจเปลี่ยนไร่ข้าวโพดให้เป็นสวนวนเกษตรและผืนป่า คืนความอุดมสมบูรณ์ให้บ้านของพวกเขา

พลิกโฉมไร่ข้าวโพดสู่วนเกษตร

          ไร่ข้าวโพดบนพื้นที่ลาดเชิงเขาถูกปรับให้กลายเป็นสวนวนเกษตรที่มีไม้หลากหลายชนิด ทั้งพืชเศรษฐกิจอย่าง แมคคาเดเมีย กล้วย อะโวคาโด กาแฟ เงาะ ลิ้นจี่ ควบคู่กับการปลูกไม้ยืนต้นที่มีเนื้อไม้และมีวงปี อาทิ มะขามป้อม มะม่วง เพื่อดูดซับกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มพื้นที่ป่าถาวรในชุมชน ภายใต้การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่การจัดหากล้าพันธุ์ไม้ พัฒนาระบบกระจายน้ำ การรับซื้อและแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการหาตลาดรองรับผลผลิตต่าง ๆ

          “ตอนนี้ปลูกตามคำแนะนำของโครงการหลวง ข้างล่างปลูกสมุนไพร เลี้ยงผึ้ง ทำให้เรามีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ พอไม้ผลออกลูกเราก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีก สุดท้ายข้างหน้าป่าจะเลี้ยงเราได้” วุฒิชาติเล่าให้เราฟังด้วยสายตาเปี่ยมสุข ขณะพาชมต้นลำไยที่กำลังใกล้จะเก็บไปขายได้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

          เช่นเดียวกับเกสรที่บอกว่า แม้ในอดีตจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก แต่ก็ยังเป็นหนี้เหมือนเดิม แถมชุมชนยังแห้งแล้ง อากาศร้อน และไม่มีน้ำใช้ แต่หลังจากหันมาปลูกผัก ดอกไม้ และพืชเศรษฐกิจแทนข้าวโพด ชีวิตก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงตัดสินใจเลิกปลูกข้าวโพด หันมาทำวนเกษตรควบคู่กับการปลูกป่าให้ลูกหลาน

เกษร จะทอ เกษตรกรที่ร่วมนำร่องปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วม

ต่อยอดคาร์บอนเครดิตสู่เศรษฐกิจสีเขียว

          นอกจากส่งเสริมการปลูกพืชแบบวนเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งในระยะสั้นและระยะกลางแล้ว โครงการนี้ยังนำกลไกคาร์บอนเครดิตเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อจูงใจชุมชนให้ดูแลป่าและสร้างรายได้แก่ชุมชนระยะยาวด้วย

          คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ หน่วยที่แสดงถึงความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยต้นไม้ในป่าเขตร้อน 1 ต้น กักเก็บคาร์บอนได้เฉลี่ย 23 กิโลกรัมต่อปี ดังนั้นยิ่งชุมชนมีพื้นที่ป่ามาก ยิ่งสามารถขายคาร์บอนเครดิตให้กับหน่วยงานหรือบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการนำคาร์บอนเครดิตไปชดเชยกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรที่เกินเป้าหมายได้ อีกทั้งปัจจุบันภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญกับการกดดันจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM ที่คาดว่าจะบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทำให้ความต้องการคาร์บอนเครดิตในตลาดสูงขึ้นตามไปด้วย

          สำหรับในพื้นที่นำร่องวนเกษตรของเกษตรกรทั้ง 3 รายที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำรินจะมี กฟผ. มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านคาร์บอนเครดิต จัดเก็บข้อมูลต้นไม้และพื้นที่ปลูกให้เป็นไปตามมาตรฐานของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และผู้ประเมินภายนอกที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งเมื่อเกษตรกรดูแลบำรุงรักษาไม้ยืนต้นให้อยู่รอดเติบโตจนถึงประมาณปีที่ 5 ก็จะสามารถเริ่มแบ่งขายคาร์บอนเครดิตได้

          “คาร์บอนเครดิต คือคุณค่าของการกักเก็บคาร์บอนไว้ในต้นไม้คล้าย ๆ กับการฝากธนาคาร เมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นก็สามารถเอาคาร์บอนเครดิตมาขายได้ แต่ส่วนสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการสร้างป่าขึ้นมาด้วยสองมือของพวกเขา แล้วเติบโตเป็นป่าเศรษฐกิจที่จะกลับมาเลี้ยงชุมชน ในขณะที่ประเทศไทยก็จะมีป่าเพิ่มขึ้น ช่วยทั้งลดโลกร้อน แก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันได้อย่างเป็นระบบ” ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวถึงความตั้งใจในการดำเนินโครงการนี้

นายวุฒิชาติ ลาดสีทา เกษตรกรที่ร่วมนำร่องปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วม

          วันนี้เหล่าเกษตรกรที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำรินจึงมีรายได้อย่างต่อเนื่องจากผลผลิตที่มีให้เก็บเกี่ยวตลอดทั้งปี จนสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ไม่ต้องเสี่ยงขาดทุนจากการรอเก็บผลผลิตครั้งเดียวเหมือนการปลูกข้าวโพด โดยเชื่อว่าการเริ่มนับหนึ่งปลูกป่าในวันนี้จะทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

          ผมคิดว่าสิ่งที่จะได้มันมากกว่ารายได้ที่เราจะมี คือสุดท้ายป่ากลับมาและเลี้ยงเราได้ จึงมีความตั้งใจทำตรงนี้เป็นแบบอย่างให้ดี เกิดประโยชน์ขึ้นมาก่อน และเชื่อว่าเกษตรกรคนอื่นจะทำตามโดยธรรมชาติเพราะเห็นว่าป่าเลี้ยงเราได้” วุฒิชาติ ลาดสีทา กล่าวทิ้งท้าย

          การปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมด้วยคาร์บอนเครดิตแบบผูกพันจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม นำมาซึ่งความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

Skip to content