ชีววิถี กฟผ. เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขับเคลื่อนชุมชนด้วยแนวทาง “ชีววิถี”

กว่า 20 ปี ของการดำเนินโครงการฯ กฟผ. ได้วางแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบ
ด้วยแนวคิดทาง “ชีววิถี” สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เกิดการเกื้อกูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้
และพึ่งพากันในชุมชน โดยในปัจจุบันมีชุมชนไม่น้อยกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ
ที่ได้นำแนวทางนี้ไปปฏิบัติใช้ และ เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน

“เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”

Timeline การดำเนินงานโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

  • ปี 2540 – เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง

       “…ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การที่จะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญที่เราอยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตนเอง

       อันนี้เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่ให้ตัวเองสำหรับครอบครัว อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้าน หรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควรบางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้แต่ในที่ไม่ห่างไกลเท่าไรไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก

       อย่างนี้นักเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัย จริงอาจจะล้าสมัยเพราะว่าคนอื่นเขาก็ต้องมีการเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง รู้สึกไม่หรูหรา แต่ประเทศไทยเป็นที่มีบุญอยู่ว่าการผลิตที่พอเพียงทำได้….

  • ปี 2541 – พันเอกพิเชษฐ์ วิสัยจร (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ศึกษาเรื่องการใช้จุลินทรีย์ที่มีประเสิทธิภาพ (EM : Effective Microorganisms) จาก มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา หรือ คิวเซ (คิวเซ แปลว่าช่วยเหลือโลก) ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งก่อตั้งโดย ศ.ดร.เทรูโอะ ฮิงะ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญสาขาพืชสวน มหาวิทยาลัยริวกิว ซึ่งเป็นผู้ค้นพบ EM และก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ กองอำนวยการเฉพาะพื้นที่ป่าดงนาทาม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยนำทหารมาอบรมที่ศูนย์ฯ และไปส่งเสริมให้ชาวบ้านที่ บ้านโนนสวรรค์ อ.โขงเจียม

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2541 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประทับเขื่อนสิรินธรและเสด็จเยี่ยมหมู่บ้านโนนสวรรค์ ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีพระราชเสาวนีย์ ว่า “มาที่นี่ได้ความรู้ แต่เดิมมีความกังวลว่าประชาชนที่ช่วยกันรักษาป่า และปฏิญาณว่าจะไม่ตัดไม้ทำลายป่าจะอยู่กันอย่างไร เมื่อมาเห็นโครงการนี้แล้ว รู้สึกมีความสบายใจที่ได้เห็นประชาชนมีอาหารรับประทาน โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก อยากให้นำไปใช้กับหมู่บ้านอื่นๆด้วย เพื่อให้ราษฎรได้มีอาหารรับประทานอย่างเพียงพอ”

นายวีระวัฒน์  ชลายน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในขณะนั้น รับพระราชเสาวนีย์ จึงได้มอบหมายให้ผู้บริหาร กฟผ. ไปเรียนรู้ และสั่งให้นำพนักงาน กฟผ. ทุกหน่วยเข้าอบรม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนที่อยู่รอบหน่วยยงาน กฟผ. นำไปปฏิบัติ

  • ปี 2542 – ก่อตั้งโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ปี 2546 – การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นทางการ และได้ลงความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อดำเนินการร่วมกันในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านชีววิถีฯ
  • ปี 2554 – มุ่งเน้นการบรรยายสาธิต ตามสถานศึกษา ชุมชน และหน่วยงานที่สนใจ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้แก่ประชาชน โดยมีตัวชี้วัดเป็นจำนวนคนที่เข้ารับการอบรม
  • ปี 2555 – ขยายผลการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนรอบ เขื่อน โรงไฟฟ้า และสายส่ง
  • ปี 2560 – เริ่มยกระดับชุมชนต้นแบบชีววิถี กฟผ.
  • ปี 2562 –  ยกระดับชุมชนต้นแบบชีววิถี กฟผ. ที่มีศักยภาพ เพื่อจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน นำร่อง 2 แห่ง ที่บ้านดงเรือง จ.อุดรธานี และบ้านไทรย้อย จ.แพร่
  • ปี 2566 –  มีชุมชนที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนจำนวน 18 แห่ง
  • ปี 2567 –  คาดว่าจะสามารถจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนได้อีก 5 แห่ง และบูรณาการโครงการชีววิถี ร่วมกับแปลง โคก หนอง นา รวมถึงจัดทำ ต่อยอดแปลงชีววิถี 72 แปลง เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา

“โคก หนอง นา โมเดล”

“โคก หนอง นา โมเดล” ถือเป็นแนวคิดในการออกแบบพื้นที่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งรัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโดยเป็นการทำเกษตรในพื้นที่จำกัด กักเก็บน้ำไว้ทั้งบนดินและใต้ดิน แต่สามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างเห็นผล

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้าได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทราและโรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 

เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่“โคก หนอง นา โมเดล” ในการจัดสรรที่ดินสำหรับบริหารจัดการน้ำและพื้นที่ทำการเกษตร เปลี่ยนแนวคิดสู่การทำเกษตรอินทรีย์แบบไม่ใช้สารเคมีและสร้างความเข้าใจในการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง 

บันได 3 ขั้นสู่แนวทางการพัฒนา “ชุมชนชีววิถี”

  • ขั้นอยู่รอด : มุ่งเน้นการส่งเสริมชุมชนรายครัวเรือน ให้เรียนรู้พึ่งพาตนเอง จากสิ่งต่างๆที่มีอยู่รอบตัวภายในรั้วบ้าน เพื่อลดรายจ่ายครัวเรือน จากการมีอาหารปลอดภัยไว้บริโภค จนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง
  • ขั้นพอเพียง : รวบรวมครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ผนึกกำลังกันเป็นชุมชน ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง นำของที่เหลือจากการบริโภคในรั้วบ้านมาแบ่งปัน เกิดการแลกเปลี่ยนและต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้ลงมือทำร่วมกัน มีผลผลิตเหลือพอสำหรับขาย สร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการลดรายจ่าย ภาระหนี้สินเริ่มลดลง
  • ขั้นยั่งยืน : มีการจัดตั้งกลุ่มบริหารชุมชนอย่างเป็นระบบ ทั้งการจัดการองค์ความรู้พื้นฐานเดิม และการต่อยอดความรู้ใหม่ เป็นแหล่งศึกษาดูงาน มีการนำผลผลิตมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เริ่มนำแนวคิด “ชีววิถี” ไปใช้ในอาชีพหลักนอกเหนือจากภายในครัวเรือน และมีความพร้อมสู่การพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนต่อไป

พึ่งพา “ชีววิถี” แบบธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี

กลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญ คือส่งเสริมให้มีการลด ละ การใช้สารเคมี เริ่มจากในครัวเรือนและขยายไปสู่ชุมชน โดยการใช้กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ Effective Microorganisms (EM) เป็นเครื่องมือหลัก เพราะต้นทุนต่ำ เรียนรู้ง่าย นำไปใช้ได้จริง ในทุกๆกิจกรรมที่มีอยู่รอบตัวเรา ทั้งการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมชุมชนด้วยการพาลงมือทำ ให้ได้เรียนรู้ ทดลอง และปฏิบัติจริงจนเกิดความเชี่ยวชาญ กระทั่งมั่นใจว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ สามารถทดแทนการใช้สารเคมีได้ในทุกๆกิจกรรม จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด

EM ย่อมาจาก ” Effective Microorganisms ” 

เพื่อนที่แสนดี “ชีววิถี”จากเครือข่าย สอศ.

กฟผ. ได้ลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตั้งแต่ ปี 2546-ปัจจุบัน โดยมีทั้งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมง วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยสารพัดช่าง เข้าร่วมโครงการมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ และนำแนวทางนี้ไปส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในสถานศึกษา ตลอดจนชุมชน และ ราษฎร ที่อยู่ใกล้เคียง ส่งผลให้เกิดแนวร่วมในการพัฒนาชุมชน ต่อยอดการเรียนรู้ไปยังบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และ นวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับ“ชีววิถี” ซึ่งมีมากกว่า 200 ชิ้นงาน ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนต่างๆตลอดระยะเวลาดำเนินงานร่วมกัน

“ชุมชนต้นแบบชีววิถี กฟผ. บ้านดงเรือง” อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เริ่มต้นแนวทางโครงการชีววิถีฯ ตั้งแต่ปี 2557 จากกลุ่มครัวเรือนเพียง 5 หลังคาเรือน ภายใต้การนำของผู้ใหญ่บ้านคุณบานเย็น องอาจ ต่อมาได้ขยายจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการฯจาก 5 เป็น 10 เป็น 50 และมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 170 ครัวเรือนทั้งหมู่บ้าน

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการฯ ชุมชนบ้านดงเรือง ได้เดินตามแนวคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียง ตามบันได 3 ขั้น คือ ขั้นพอเพียง ขั้นอยู่รอด และขั้นยั่งยืน มาทีละขั้นแบบไม่กระโดดข้าม


โดยมาถึงวันนี้ ชุมชนได้ก้าวสู่บันไดขั้นที่ 3 คือขั้นยั่งยืน ที่เกิดการรวมกลุ่มสมาชิกในชุมชนอย่างเข้มแข็ง และ กฟผ. ได้ร่วมพัฒนาพื้นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของหมู่บ้านจำนวน 4 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกผักปลอดสารพิษภายใต้กระบวนการโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ กฟผ. เต็มรูปแบบ เพื่อต่อยอดให้แก่ความสำเร็จของชุมชน มีจำนวนมากกว่า 200 แปลง รงมถึงการขุดเจาะน้ำบาดาล และวางระบบปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และการวางระบบปลูกพืชแบบน้ำหยด จากโครงข่ายความร่วมมือโครงการชีววิถีฯ จาก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม คำนวนผลผลิต และ การใช้น้ำต่อแปลง ตามหลักวิขาการพืชศาสตร์


นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีเป้าหมายที่จะนำชุมชนมุ่งหน้าสู่มารตรฐานการปลูกผักปลอดสารเคมี ภายใต้การรับรองของ Oganic Thailand ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต และเป็นเครื่องยืนยันว่าชุมชนนี้ปลูกผักโดยปลอดสารเคมี และเป็นการก้าวเดินไปร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง

“ชีววิถี กฟผ. คิดและทำ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”

Download หนังสือ ชีววิถี กฟผ. เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

Skip to content