น้ำเย็น ปลาเป็น ณ บ้านขุนกลาง

9 December 2018

         “ตามสำนวนไทยที่กล่าวไว้ว่า น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย แต่ ณ บ้านขุนกลาง น้ำเย็น ปลากลับเป็นและเจริญเติบโตได้ดี”

         ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น แม้แต่ธารน้ำที่ไหลผ่านโขดหินลดหลั่นลงมาจากยอดเขาดอยอินทนนท์เมื่อได้สัมผัสจึงรู้ว่า เย็นจนมือชาเลยทีเดียว ด้วยพลังของแหล่งน้ำแห่งนี้ มีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำได้ จึงกลายมาเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลาง ที่ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนบนยอดดอยอินทนนท์ได้ใช้ ซึ่งอยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

         ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่อุณหภูมิที่หนาวเย็นของยอดดอยอินทนนท์ตลอดทั้งปี เหมาะแก่การปลูกต้นฝิ่น ทำให้ผู้คนนิยมปลูกกันทุกหลังคาเรือนแต่นั่นกลับกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการส่งเสริมการปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาวและได้ริเริ่มการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเย็นจากต่างประเทศสู่ประเทศไทย

         กว่า 40 ปีแล้วที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริกับนักประมง มูลนิธิโครงการหลวงดอยอินทนนท์ ให้วิจัยเพาะพันธุ์ปลาน้ำเย็นจากต่างประเทศมาเลี้ยงบนพื้นที่ราบสูง เพื่อเพิ่มอาชีพให้กับประชาชนแทนการปลูกฝิ่น “จากพระราชกระแสรับสั่งนั้น กรมประมงจึงได้นำปลาเรนโบว์เทราต์ ปลาจากประเทศเยอรมนี เข้ามาเพาะพันธุ์ในประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่ท้าทายและตื้นตันใจอย่างที่สุดของพวกเราชาวกรมประมง” นายสานนท์ น้อยชื่น นักวิชาการประมง เล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจ

         ปลาเรนโบว์เทราต์ ปลาน้ำจืดสายพันธุ์หนึ่งของปลาเทราต์ วงศ์เดียวกันกับปลาแซลมอน แหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ อาศัยอยู่ในน้ำเย็น ต้องการน้ำสะอาดและไหลแรงตลอดเวลา ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างเป็นไปได้ยากเหลือเกินที่จะสามารถเพาะพันธุ์ได้ดีในประเทศไทย หากจะสามารถเพาะพันธุ์ได้ก็คงไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีนัก และแล้วกรมประมงก็มาพบแหล่งน้ำสะอาด น้ำไหลแรง เชี่ยวและเย็นตลอดทั้งปีที่สามารถเลี้ยงปลาเทราต์ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ บ่อพักน้ำจากการผลิตกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลาง

          “ปลาเรนโบว์เทราต์ในบ่อพักน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำฯ เจริญเติบโตได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ สามารถจับเพื่อขายได้เพียงเวลาแค่ 6 เดือนเท่านั้นในขณะที่การเลี้ยงที่อื่นใช้เวลามากกว่า 8 เดือน” นั่นแสดงให้เห็นแล้วว่า บ่อพักน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลางสะอาดจริงๆ ไม่เป็นอันตรายต่อการเลี้ยงปลา และยังสามารถสร้างประโยชน์ได้อีกด้วย ได้ยินแล้วปลาบปลื้มใจแทนทุกฝ่ายที่ทำให้ความไม่น่าเป็นไปได้ กลับสำเร็จผลขึ้นมา นับว่าเป็นเวลาเกือบ 20 ปีมาแล้วที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นสถานที่ในการเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ เพื่อขายและเพาะพันธุ์ให้กับโครงการหลวงดอยอินทนนท์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

         ยิ่งไปกว่าความตื่นเต้นของปลาน้ำเย็นในประเทศเมืองร้อน คือ การพิสูจน์ความอร่อยของปลาเรนโบว์เทราต์ จากสถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลางนั่นเอง เชฟประจำสถานี เชฟโจ นายนิติธร บุญทาทิพย์ เชฟฝีมือดี มากประสบการณ์ ที่นำเมนูยอดฮิตจากปลาเรนโบว์เทราต์มาให้ชิม “ปัจจุบันปลาเรนโบว์เทราต์ ได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ มักจะถูกนำมาใช้ในการประกอบอาหาร สามารถนำมาทอด นึ่ง ต้ม หรือย่าง เป็นอาหารไทยรสชาติอร่อย กลิ่นหอม น่าทานไม่แพ้กับปลาชนิดอื่นๆ และที่สำคัญมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว โอเมก้าสูงมาก” เชฟเล่าก่อนจะให้เราชิมกับเจ้าปลาสองตัวที่ถูกปรุงมาเรียบร้อยแล้วตรงหน้า

         และเมนูที่เราจะได้ชิมนั้นคือ ปลาเทราต์ทอดสมุนไพรและสลัดปลาเทราต์ย่าง ต้องบอกว่า รสชาติที่ได้ลิ้มลองครั้งแรก อร่อยเวอร์วังอลังการมาก รสชาติเรียกได้ว่าคล้ายกับปลาแซลมอนเลย รู้สึกเลอค่าขึ้นมาทันตาเห็น เมนูปลาเทราต์ทอดสมุนไพร จะมีความกรอบของปลา สังเกตได้จากเสียงกรุบกรอบเวลาทาน และทอดอย่างพิถีพิถันไม่อมน้ำมัน ทานพร้อมกับสมุนไพรที่ประดับจานไว้อย่างสวยงาม อีกทั้งรสเปรี้ยวหวานของน้ำจิ้มก็ลงตัว นับว่าเป็นอาหารทรงคุณค่ามากๆ ส่วนเมนูสลัดปลาเทราต์ย่าง เป็นเมนูเด็ดของสายเฮลท์ตี้ ปลาย่างได้นุ่ม ร่วนอร่อย ฉ่ำกำลังดี ทานคู่กับผักสลัดสดใหม่และน้ำสลัดน้ำมันงาหอม หวาน อร่อยเข้ากันที่สุดในปฐพี

          “น้ำเย็น น้ำไหล น้ำใสสะอาด” นับว่า ผลพลอยได้จากการผลิตไฟฟ้าของแหล่งน้ำพลังมหาศาลที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านขุนกลางในความดูแลของ กฟผ. จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนบนดอยอินทนนท์ดีขึ้นมากแล้ว การเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังส่งผลให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มากความเป็นมา หากได้ชมแล้วจะรู้สึกประทับใจมิรู้ลืมเลย !!!

Skip to content