“บางปะกงโมเดล” เข้าถึงประชาชนเหมือนคนบ้านเดียวกัน การันตีด้วยรางวัล SOE Awards 2566

5 March 2024

         โรงไฟฟ้าบางปะกง เสาหลักระบบผลิตไฟฟ้า รองรับการเติบโตของเขตอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกของประเทศไทย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชุมชน ด้วยระบบนิเวศน้ำกร่อยของปากแม่น้ำบางปะกงที่มีน้ำจืดและน้ำเค็มผสมกัน ส่งผลให้มีความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสูง ชุมชนโดยรอบจึงมีอาชีพหลักด้วยการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังและทำประมงพื้นบ้าน นอกจากการผลิตไฟฟ้าแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของโรงไฟฟ้าบางปะกงก็คือ การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข เมื่อมีปัญหาร่วมแก้ไขจนเป็นที่มาของ “บางปะกงโมเดล” ที่เพิ่งได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566 ประเภทรางวัลการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น

โครงการบางปะกงโมเดล

         จากการที่ได้พบเห็นปัญหาด้านต่างๆของชุมชนปากแม่น้ำบางปะกง กฟผ. จึงได้ตระหนักว่า การฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศลุ่มน้ำบางปะกงซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าจะทำให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาหลากหลายโครงการจึงเกิดขึ้นเพื่อมุ่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศของแม่น้ำบางปะกง โดยผนึกกำลังร่วมกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างจิตสำนึกให้กับคนในชุมชนโดยเฉพาะเยาวชนให้รักท้องถิ่นบ้านเกิดเพื่อช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากร ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาผลิตภัณฑ์บนฐานทรัพยากรท้องถิ่นและการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งผลสำเร็จของโครงการต่าง ๆ ได้นำไปสู่ “บางปะกงโมเดล” ต้นแบบโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และ สิ่งแวดล้อม ที่ทำให้ กฟผ. สามารถ“เข้าถึงประชาชน เหมือนคนบ้านเดียวกัน”

กู้วิกฤตปลากะพงขาว สู่ศูนย์เรียนรู้บ้านลุงทิน

         นายยงยุทธ ชื่นสมบูรณ์ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังปากแม่น้ำบางปะกง ผู้สานต่อเจตนารมณ์ของ นายสุทิน วุฒิสินธ์ หรือ ลุงทิน ปราชญ์ชาวบ้านและครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการเพาะเลี้ยงปลากะพงในกระชัง เล่าว่า เมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 มีปลากะพงตายเป็นจำนวนมาก ลุงทินได้ทดลองแก้ไขปัญหาโดยการนำปั๊มปรับอากาศมาเพิ่มออกซิเจนในน้ำและลดน้ำเสีย ซึ่งต้องเปิดใช้งานปั๊มปรับอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเดือนละ 3,000 บาท ต่อมาโรงไฟฟ้าบางปะกง กฟผ. ได้เข้ามาช่วยคิดค้นระบบควบคุมการให้ออกซิเจนในกระชังปลากะพงขาวแบบอัตโนมัติ ที่แสดงผลคุณภาพน้ำ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ และอุณหภูมิน้ำ สามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังเพื่อการตัดสินใจในการบริหารจัดการการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังได้อย่างแม่นยำ โดยควบคุมการเปิดปิดระบบผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้ช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากขึ้น รวมทั้งมีระบบแจ้งเตือนเมื่อปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำลดต่ำลงจนถึงขั้นวิกฤตให้แก่เกษตรกรและชาวประมงผ่านสัญญาณไซเรนและแอปพลิเคชันไลน์ ช่วยให้ผู้เลี้ยงปลากระชังทราบข้อมูลล่วงหน้าและสามารถบริหารจัดการกระชังปลาได้ทันก่อนเกิดความเสียหาย

         นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชุมชนตำบลบางปะกง (ศูนย์เรียนรู้บ้านลุงทิน) เพื่อถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาการเลี้ยงปลากะพงขาวแบบเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศลุ่มน้ำบางปะกง ส่งผ่านไปยังเกษตรกรและเยาวชนรุ่นต่อไป  

สาหร่ายสไปรูลิน่า จาก CO2

         หลังจากที่ระบบควบคุมการให้ออกซิเจนปลากะพงขาวในกระชังแบบอัตโนมัติประสบความสำเร็จ โรงไฟฟ้าบางปะกงได้ดำเนินโครงการวิจัยอย่างต่อเนื่องด้วยการใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้ามาใช้เลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่า ซึ่งเป็นสาหร่ายสิ่งมีชีวิตที่มีโปรตีนสูง และร่างกายสามารถดูดซึมได้ดี โดยสาหร่ายสไปรูลิน่ามีอัตราใช้ CO2 ถึง 46 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และได้ผลผลิตมากกว่าการเพาะเลี้ยงปกติถึง 1.6 เท่า โดยสาหร่ายที่ได้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามเกณฑ์มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

         กฟผ. เล็งเห็นประโยชน์ของสาหร่ายสไปรูลิน่าจึงเปิดให้ชุมชนฝึกเลี้ยงสาหร่ายสไปรูลิน่าที่ “ศูนย์เรียนรู้การใช้คาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าบางปะกง” ช่วยดูดซับ CO2 จากกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าและต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนจากสาหร่ายสไปรูลิน่าตามความต้องการของวิสาหกิจชุมชน เช่น ชิฟฟอนสไปรูลิน่าชะคราม ข้าวเกรียบสไปรูลิน่า ซาหริ่มสไปรูลิน่า สบู่สไปรูลิน่า พร้อมยกระดับให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP โดดเด่นของจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี

ปลูกจิตสำนึกเยาวชนในท้องถิ่น

         กฟผ. เชื่อมั่นว่าการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมจะเกิดความยั่งยืนได้ ต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนในท้องถิ่นที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้พัฒนาบ้านเกิด ในช่วงปี 2556 กฟผ. จึงริเริ่มแนวคิดสร้างกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการเยาวชนต้นกล้าโรงไฟฟ้าสีเขียว โดยเปิดพื้นที่โรงไฟฟ้าบางปะกง เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ให้กับเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าสีเขียว ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ฝึกใช้ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำของโรงไฟฟ้า และความรู้ด้านนิเวศวิทยาแหล่งน้ำ การทดลองเลี้ยงปลาอีกง ปลากะพงขาว ปลานิล และปลาทับทิม ในระบบน้ำทิ้ง และยังทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงร่วมกับอาจารย์ของโรงเรียนอีกด้วย

ฟื้นฟูป่าชายเลน พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ

         นางสาวพรพิมล พลานนท์ หรือผู้ใหญ่หน่อย ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนบ้านปากคลอง ตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เล่าว่า กฟผ. ร่วมฟื้นฟูปากแม่น้ำบางปะกง ตั้งแต่ปี 2559 เริ่มจากการเข้ามารับฟังปัญหาของชุมชนประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งและป่าชายเลนเสื่อมโทรม และปัญหาคุณภาพน้ำบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ส่งผลต่อการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่ง กฟผ. ได้ส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เช่น การนำไม้ไผ่ซึ่งเป็นขยะทะเลมาใช้เป็นวัสดุเพาะต้นกล้าแทนถุงดำ และชุมชนก็ได้ประโยชน์จากการมีธนาคารต้นกล้าป่าชายเลน ทั้งยังแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและป่าชายเลนเสื่อมโทรม ทำให้มีแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่เป็นประโยชน์ต่ออาชีพประมงชายฝั่ง 

         นอกจากนี้ ยังได้ให้ความรู้เรื่องการนำตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพิ่มมูลค่าในการแปรรูปอาหารทะเล รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพืชป่าชายเลน เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้กับ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์บ้านปากคลอง โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและเกิดของเสียให้น้อยที่สุด เช่น ชะคราม 1 ต้น นำส่วนของใบอ่อน มาทำเค้กชะครามและอาหาร  ส่วนกิ่งก้านที่ปกติเป็นของเหลือทิ้งนำมาทำสครับขัดผิว สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยไม่มีของเหลือทิ้ง

การกลับมาของโลมาปากขวดและโลมาอิรวดี

         กฟผ. ยังได้พัฒนาและอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงให้ความรู้แก่เยาวชนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้สังคม ปัจจุบันป่าชายเลนในพื้นที่ปากแม่น้ำบางปะกง นับเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ โดยสิ่งที่ยืนยันถึงความสำเร็จของการสร้างความยั่งยืนในระบบนิเวศ คือ การพบเห็นการกลับมาของโลมาปากขวด (Indo-Pacific Bottlenose Dolphin) (Tursiops Aduncus) จำนวน 2 ตัว และโลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin: Orcaella Brevirostris) จำนวน 1 ตัว บริเวณท่าเรือไอพี 5 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อมกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งการที่โลมาทั้ง 2 ชนิดกลับมาในครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นดัชนีบ่งชี้ให้เห็นว่าน้ำทะเลชายฝั่งบางปะกงกำลังกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์หรือมีระบบนิเวศที่ดีขึ้น ดังที่เคยเป็นมาในอดีต แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของชุมชนชายฝั่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน

         นอกจากรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2566 แล้ว โครงการบางปะกงโมเดล ยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ปี 2563 ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม, รางวัลเกียรติยศ CSR-DIW Continuous Awards 2022 รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐานสากลการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 4 ร่วมการันตีการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าบางปะกงว่าได้ “เข้าถึงประชาชน เหมือนคนบ้านเดียวกัน” อย่างแท้จริง

Skip to content